fbpx
Home
|
ทั่วไป

สรุปความเสียหาย Voucher ทิพย์ ‘บุฟเฟต์แซลมอนดารุมะ’

Featured Image

         สายบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นนั่งไม่ติด ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับร้านอาหารญี่ปุ่น DARUMA sushi (ดารุมะ ซูชิ) ที่มีการขายเวาเชอร์บุฟเฟต์แบบถูกมากๆแค่ 199 บาท แต่จู่ๆทุกร้านสาขาก็พร้อมใจกันปิดต่อเนื่องหลายวัน ทำให้หลายคนเริ่มสงสัยกันต่างๆนาๆ ว่าตัวเองจะโดนเชิดเงินค่าเวาเชอร์ที่ซื้อไปจนเป็นเวาเชอร์ทิพย์เหมือนคดีก่อนๆหรือเปล่า

เปิดประวัติบัตรปลาส้ม ดารุมะ

  • ข้อมูลของร้าน “ดารุมะ ซูชิ” (DARUMA sushi) เป็นร้านอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่นร้านนึงที่มีสาขา 26 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งที่เป็นร้านของเจ้าของบริษัทเอง และบางส่วนเกิดขึ้นจากการขายแฟรนไชส์
  • โดยจุดเด่นของร้านอยู่ที่เนื้อแซลมอนสดที่ทานได้ไม่อั้นในราคา 499 บาท แต่ถ้าหากซื้อเวาเชอร์ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชันจะตกเพียงคนละ 199 บาทเท่านั้น
  • และด้วยราคาที่ถูกแสนที่ถูกสวนกระแสสถานการณ์แซลมอนขึ้นราคานี้ ทำให้มีคนแห่ซื้อเวาเชอร์ของ ดารุมะ มากมาย ต้ังแต่คนทั่วไปที่ซื้อไว้ทานเอง ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่ซื้อมาขายต่อเพื่อทำกำไรก็มีให้เห็น
  • ซึ่งยอดซื้อถล่มทลายนี้เอง จะกลายร่างเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้นั่นเอง

จุดเริ่มต้น #ดารุมะ เส้นทางแหลมเกตโมเดล

  • โดยจุดเริ่มต้นของดราม่าปลาส้มนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน หลังเฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักบุฟเฟต์ เริ่มมีคนที่ซื้อเวาเชอร์ไว้และจะไปทานอาหาร พบว่าสาขาที่ตัวเองจะไปทานปิด พร้อมแปะป้ายไว้ว่า “ปิดร้าน 1 วัน เพื่อปรับปรุงระบบ” ทำให้มีคนเข้ามาคอมเมนต์ว่าสาขาอื่นที่ตัวเองจะไปทานก็ปิดเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ
  • รวมถึงมีคนเข้าไปค้นหาเพจของร้านเพื่อจะถามไถ่ความจริง ก็ปรากฏว่าหาไม่เจอ ทำให้เริ่มมีการรวมตัวเพื่อรอดูสถานการณ์กันต่อไป หากพรุ่งนี้ไม่เปิดก็น่าจะส่อแววเกิดเรื่องไม่ดีแล้ว
  • แต่แล้ว วันที่ 18 มิถุนายน ร้านก็ยังไม่เปิดเช่นเคยทำให้ลูกค้าที่ซื้อบัตรเริ่มกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จะต้องเสียเงินที่โอนซื้อเวาเชอร์ไปแบบฟรีๆหรือเปล่า ยิ่งกว่านั้นมีคนไปเฝ้าถึงหน้าร้านเลย พบว่าบางร้านเก็บข้าวของบางส่วนไปแล้ว
  • กลุ่มผู้เสียหายเริ่มมีการรวมตัวกันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆเพื่อฟ้องผู้เกี่ยวข้อง มีการแชร์ข้อความต่างๆให้จับตามองการเคลื่อนไหวของร้าน จนเกิดเป็น #ดารมุ ติดเทรนด์อันดับ 1 บนทวิตเตอร์
  • ต่อมาในขณะที่เหตุการณ์ยังชุลมุนกันอยู่ ก็มีผู้จัดการร้านดารุมะสาขาหนึ่งเนี่ยออกมาเล่าว่า อยู่ ๆ คุณบอลนี่ หรือเจ้าของบริษัทดีดตัวเองออกจากทั้งหมด แล้วยังลบไลน์ตัวเองทิ้ง ทำให้ไม่มีใครสามารถติดต่อคุณบอลนี่ได้อีกเลย
  • ทั้งนี้ พนักงานร้านทั้งหมดก็ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ซัพพลายเออร์ที่มีหน้าที่คอยส่งเนื้อแซลมอนให้ก็ไม่ส่ง จึงเป็นสาเหตุให้ต้องปิดร้านไปก่อน และอ้างว่าระบบล่ม เพราะลูกค้ากระหน่ำโทรมาถามกันเยอะมาก ไม่รู้จะตอบยังไงดี
  • เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่กำลังเดือดร้อน พนักงานกว่าหลายร้อยชีวิตเองก็เดือดร้อนเช่นกัน บางคนต้องปิดร้านทั้งๆที่ยังไม่ได้รับเงินเดือนด้วยซ้ำ อนาคตของตัวเองตอนนี้ก็ไม่มี ไม่รู้จะต้องทำยังไงต่อ
  • และเหตุการณ์ก็เริ่มเห็นแววแย่เข้าไปอีก หลังจากมีคนเข้ามาแฉเจ้าของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นเป็นผู้จัดการสาขาอีกคนหนึ่งเล่าว่า 
  • ตัวเองทำงานมา 3 ปีกว่า เจ้าของบริษัทเป็นเจ้านายที่น่ารักกับลูกน้องดี แต่บริษัทนี้กลับไม่มีฝ่ายบุคคล ไม่มีฝ่ายบัญชี ไม่มีทีมบริหารใดๆทั้งสิ้น ทำให้การตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของบริษัทเพียงคนเดียว 
  • พอหายตัวไปแบบนี้ จึงไม่แปลกใจที่ระบบทุกสาขาจะล่มทั้งหมด และมีการแฉต่อก็ยิ่งพบว่าเจ้าของบริษัทเองค้างจ่ายค่าปลาแซลมอนให้กับซัพพลายเออร์ 30 ล้านบาท
  • ทำให้มีคอมเมนต์หลายคอมเมนต์ชี้ไปในทางเดียวว่า เหตุการณ์ชิ่งเงินแบบนี้น่าจะคล้ายๆกับ คดีแหลมเกตซีฟู๊ด เมื่อปี 2562 ที่เป็นร้านอาหารบุฟเฟต์เหมือนกันนี่แหละ เปิดขายบัตรราคาถูกเหมือนกัน เพื่อจะเอามาหมุนเงินภายใน แต่สุดท้ายก็จัดการไม่ไหว หนีหนี้ไปคนเดียว
  • เพียงแต่เคสปัจจุบันอาจจะแย่กว่า เพราะดูจากลักษณะโครงสร้างบริษัทที่ไม่มีการทำสัญญาจ้างพนักงานแบบเป็นตัวเป็นตน แล้วจัดการกิจการร้านค้ากว่า 20 สาขาด้วยตัวคนเดียว ร้านดารุมะอาจตั้งขึ้นเพื่อหวังโกงอยู่แล้วแต่แรกก็ได้

สรุปภาพรวมผู้เสียหาย

          ซึ่งจากข้อมูลทางการพบว่ามีผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์กับทาง สคบ. มากกว่า 400 ราย และขายเวาเชอร์ไปกว่า 7 แสนใบ สิริความเสียหายรวมแล้วมากกว่า 127 ล้านบาทไปแล้ว ยังไม่นับค่าเช่าร้าน ค่าจ้าง และค่าสินค้าที่ติดไว้อีก

โดยตอนนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 5 กลุ่มหลัก คือ 

1) ผู้ซื้อเวาเชอร์ ที่เป็นคนทั่วไป กับผู้ซื้อเวาเชอร์ที่เป็นพ่อค้าคนกลางที่ซื้อตั๋วไปขายต่อ เนื่องจากเงื่อนไขของร้านที่กำหนดให้ซื้ออย่างต่ำ 5 ใบถึงจะได้ราคาถูก ทำให้ซื้อมาแยกขายต่อให้กับคนที่จะกินอีกที ซึ่งผู้เสียหายกลุ่มนี้เก็บเวาเชอร์ไว้มากสุดหลักพันใบ เสียเงินไปกว่า 5.5 แสนบาททีเดียว

2) พนักงานร้าน อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ว่าพนักงานบริษัททั้งหมดไม่มีการจ้างผ่านสัญญาอย่างเป็นทางการ รวมถึงพนักงานตามร้านก็ถูกลอยแพหลังธุรกิจปิดตัวลง ทำให้กลายเป็นลูกจ้างนอกระบบหรือแรงงานเถื่อนไปในที่สุด

3) เจ้าของแฟรนไชส์ โดยผู้เสียหายกลุ่มนี้ได้มีการให้ข้อมูลผ่านรายการโหนกระแส ว่าซื้อแฟรนไชส์มาในราคา 2-2.5 ล้านบาท โดยเจ้าของแฟรนไช์ไม่ต้องจัดการอะไรเลย แค่ปล่อยให้เป็นหน้าที่เจ้าของบริษัทจัดการ แล้วรอฟันเงินปันผล 10% จากยอดขายของทุกเดือน

ซึ่งบางคนก็ให้การว่าไม่ได้รับเงินปันผลทุกเดือนด้วยซ้ำ บางเจ้าเพิ่งซื้อแฟรนไชนส์มา เปิดสาขาใหม่ได้ไม่กี่วันก็ต้องปิดร้านลง

4) ซัพพลายเออร์ ที่เป็นคนนำส่งวัตถุดิบเข้าร้านดารุมะก็ได้รับผลกระทบเพราะถูกคุณบอลนี่เจ้าของร้านติดหนี้อยู่ 30 ล้าน โดยยิ่งแย่ไปกว่านั้นเพราะหนี้ 30 ล้านที่ว่าเป็นของซัพพลายเออร์เจ้าเดียวเท่านั้น ยังเหลืออีก 2 รายที่ไม่ได้แจ้งยอดออกมา

5) ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่ ที่ยังถูกค้างค่าเช่าเพราะไม่สามารถตามตัวคนจ่ายได้

ซึ่งทาง สคบ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้เร่งเข้าช่วยเหลือแล้ว โดยรับปากจะดูแลและรับผิดชอบในส่วนของผู้บริโภค ส่วนผู้เสียหายในกลุ่มอื่นสามารถไปแจ้งความเอาผิดและฟ้องทางคดีแพ่งกับทางเจ้าของแฟรนไชส์ต่อไป พร้อมเตือนสายหิวท่านไหนอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะในขณะนี้เท่าที่ตรวจสอบมายังมีการวางขายเวาเชอร์อยู่เลย

          สุดท้ายจากดราม่าฉ้อโกงนี้ ก็ต้องตามกันต่อไปว่า ตำรวจจะจับกุมเจ้าของได้ไหม เจ้าของแอบบินไปดูไบจริงหรือเปล่า หนำซ้ำถ้าจับมาดำเนินคดีได้จริง ผู้เสียหายที่รอคอยจะได้รับเงินคืนไหม

          เอาเป็นว่าหลังจากนี้ใครที่คิดจะซื้อเวาเชอร์ลดราคาอาจต้องคิดหนักหน่อยแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่ร้านค้าจะต้องขยันปล่อยโปรโมชั่นออกมาล่อซื้อ แต่ทั้งนี้ก็ต้องตั้งอยู่บนหลักเหตุผลเหมือนกัน ช่วงนี้มิจฉาชีพเยอะเกิ้น

ติดตามดราม่าร้อน ประเด็นดังแบบไม่ตกเทรนด์ต่อพร้อมกับเรา สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube