fbpx
Home
|
ทั่วไป

สรุป #saveจะนะ ‘จะสู้’เพื่อผืนป่า หรือ ‘จะหมดค่า’เพราะความรุนแรง

Featured Image

          #saveจะนะ ถูกกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ตำรวจและคฝ.ได้เข้าสลายประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เรื่องราวของ ‘จะนะ’ นี้คืออะไร  สำคัญขนาดไหน ทำไมประชาชนผู้บริสุทธิ์ถึงขนาดต้องยอมออกมา save วันนี้ iNN อธิบายให้ฟัง

‘จะนะ’ คืออะไร

  • จะนะ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลามีความอุดมสมบูรณ์จากระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเลที่ติดกับอ่าวไทย
  • ด้วยความเป็นเมืองธรรมชาติทำให้ประชาชนชาวจะนะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงเป็นหลัก
  • ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นที่เงียบสงบกลับต้องเปลี่ยนแปลงไปเมื่อ จะนะ ถูกโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยรัฐบาล คสช. ในปี พ.ศ.2562 ที่ต้องการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม
  • แม้รัฐจะมอบข้อเสนอถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในท้องถิ่น แต่ก็ยังเป็นที่กังขาของประชาชนต่ออุตสาหกรรมจะนะ 3 แง่ใหญ่ๆ ดังนี้
  1. ข้อกฎหมาย

          ตามพื้นที่เดิมของจะนะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวไว้ใช้สำหรับเกษตรกรรมห้ามก่อสร้างอาคารสูง หากรัฐบาลจะเปลี่ยนไปสร้างโรงงานเท่ากับว่าต้องระบายสีที่ดินจะนะใหม่ให้เป็นสีม่วงทั้งหมด

          ซึ่งการเปลี่ยนสีนี้จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนในท้องถิ่น แต่ในวันปราศรัยดังกล่าวมีชาวบ้านที่ออกมาต่อต้านจำนวนมากถูกทหารและตำรวจวางลวดหนามไม่ให้เข้างานและอยู่ห่างจากพื้นที่เกือบ 4 กิโลเมตร

          รวมถึงประชาชนที่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมงานบางส่วนแลกมากับข้าวสารและน้ำมันพืชที่ถูกใช้มาเป็นแรงจูงใจลงชื่อสนับสนุนโครงการ

 

  1. ปากท้องประชาชนในท้องถิ่น

          อย่างที่บอกก่อนหน้าว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงปลา มีทะเลเป็นแหล่งอาหารหลัก

          แม้รัฐบาลจะพยายามขายความดีงามของอุตสาหกรรมจะนะว่าจะนำมาซึ่งรายได้และความมั่งคั่งของประชาชนผ่านการเป็นแรงงานในโรงงาน

          แต่คนพื้นที่ส่วนใหญ่ยังกังขากับปัญหาปากท้อง ทั้งสภาพแวดล้อมเดิมที่จะสูญหายไป รวมถึงทักษะติดตัวก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงงาน ปัญหาการไม่จ้างงานในผู้สูงอายุ ทำให้ต้องการคำตอบว่าคนท้องถิ่นจะได้ผลประโยชน์ที่แท้จริงได้อย่างไร

 

  1. สิ่งแวดล้อม

          นักวิชาการร่วมถึงเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นคาดการณ์ว่านิคมอุตสาหกรรม พร้อมโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และท่าเรือน้ำลึกอีก 3 ท่า จะส่งผลกระทบต่อทะเล วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากมาย

          ยังไม่นับเรื่องการกินนอกกินในของหน่วยงานรัฐและเอกชนจึงทำให้ไม่มีความเชื่อมั่นในองค์กรที่เกี่ยวข้องว่าจะยึดมั่นในหลักการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ประชาคมโลกกำหนดไว้

 

#saveจะนะ กับความรักในท้องถิ่นสู่ความรุนแรงในกรุงฯ

  • การลักไก่ของรัฐบาลในการพยายามเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวของจะนะให้กลายเป็นอุตสาหกรรมเขตสีม่วง ทำให้ประชาชนรวมตัวต่อต้านผ่าน #saveจะนะ #savechana ให้เห็นผ่านตาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
  • จนในวันที่ 6 ธ.ค. ประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้รวมตัวเยือนหน้าทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการชั่วคราว 
  • เพราะในสายตาของชาวจะนะแล้วไม่ได้ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่แค่ต้องการความโปร่งใสและแม่นยำของการจัดโครงการขึ้น จะดีกว่าถ้ารัฐทำนโยบายโดยไม่ต้องแก้ไข หรือถ้ามีปัญหาเยอะไม่ไหวสู้ไม่ทำเสียยังดีกว่า
  • ด้วยเสียงของคนในท้องถิ่นที่ออกมาเรียกร้องด้วยความสงบนี้ ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้เข้าสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเย็น มีการรวบตัวผู้เข้าร่วมผู้ชุมนุมชาวจะนะกว่า 36 คน
  • การจับกุม ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านครั้งใหญ่บนโลกอินเทอร์เน็ต และนำมาด้วยการขุดคุ้ยปัญหาที่มาโครงการนี้ว่ามาอย่างไม่ชอบมาพากล เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น สู่ 10 เหตุผลที่ควรต่อต้านโครงการจะนะในปัจจุบัน

ขอบคุณภาพจาก : YDFD 

          การต่อต้านอุตสาหกรรมจะนะของรัฐบาลนับตั้งแต่ยุค คสช. ไม่ได้เป็นเสียงสะท้อนถึงการขาดดุลพินิจทางสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว การสลายชุมนุมที่ผ่านมาก็ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการริดรอนสิทธิเสรีภาพด้วยเช่นเดียวกัน

          ประเทศไทยต้องร่วมจับตาโครงการนี้ต่อไป ว่าปลายทางอุโมงค์คือเส้นชัยของ ‘จะนะ’ หรือเป็น ‘หายนะ’ ของคนทั้งประเทศกันแน่ ติดตามข่าวสารอื่นต่อได้ที่ iNN News

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube