fbpx
Home
|
ทั่วไป

เติมความรัก ติดความรู้ สู้ภัยออนไลน์

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ทุกวันนี้เราทุกคนอยู่กับเทคโนโลยีตลอด 24 ชั่วโมง แม้เทคโนโลยีจะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยี ก็อาจสร้างผลเสียให้เกิดขึ้นได้หากเรารู้ไม่เท่าทัน

เด็กวัยรุ่นหลายคนใช้ชีวิตติดโซเชียล ต่างต้องเผชิญกับภัยออนไลน์ที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ข่าวปลอม เว็บไซต์การพนัน เกมออนไลน์ รวมไปถึงการกลั่นแกล้งและคุกคามทางเพศ

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “เติมความรักด้วยความรู้ … อยู่อย่างไรในโลกออนไลน์” ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันหาวิธีอยู่กับโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข

โดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นสื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชน และนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) เผยผลสำรวจออนไลน์ในปี 2563 ว่า เด็กร้อยละ 90 เล่นเกมออนไลน์ ในจำนวนนี้เด็กมากกว่าครึ่ง ใช้เวลาเล่นมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 15 มีการเล่นพนันในเกม

ขณะที่เด็กร้อยละ 80 ลุกขึ้นมาเสนอให้มีการจัดเรตติ้งเกม รวมทั้งให้มีกฎหมายควบคุมดูแลธุรกิจเกม เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในโลกออนไลน์

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. ให้ข้อมูลว่า ในโลกออนไลน์มีทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่างๆ ผสมปนเปเข้ามา ดังนั้นเราต้องสอนให้เด็กรู้จักการใช้สื่อยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์

ดร.นพ.ไพโรจน์ บอกว่า ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนในการพัฒนานวัตกรรมแนวคิด ที่เรียกว่า MIDL หรือ Media Information and Digital Literacy ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาหาเรา พัฒนาทักษะให้เรารู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ซึ่งการเริ่มต้นสามารถทำได้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว และโรงเรียน ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ จะช่วยปรับการทำงานให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

“ปัญหาเด็กกับโลกออนไลน์ เป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง เวลาที่ผู้ใหญ่มองปัญหา มักมองที่ยอดของภูเขา แต่แท้ที่จริงแล้ว ปัญหาเหล่านั้นมีที่มา และซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้น เด็กจำนวนหนึ่งหันเข้าหาโลกออนไลน์ เพื่อแสวงหาตัวตนที่ไม่สามารถมีได้ในโลกของความเป็นจริง” เป็นความเห็นจาก พญ.จิราภรณ์อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น หรือ หมอโอ๋ จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

หมอโอ๋ แนะนำ 3 วิธี ช่วยเติม “ความรัก” ด้วย “ความรู้” สร้างภูมิคุ้มกันรู้ทันสื่อให้เด็กและเยาวชน ดังนี้

  1. ฝึกให้ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำก่อน ค่อยๆ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้ บริหารจัดการตัวเอง
  2. รับฟังความต้องการ แทนการพร่ำบ่นและตำหนิ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัย ทำให้เด็กกล้าเข้ามาพูดคุย
  3. ช่วยวางกฎกติกา เพราะเด็กและเยาวชนแต่ละคน มีวุฒิภาวะที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นผู้ใหญ่อาจเข้ามาช่วยวางกฎกติกา ในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในแต่ละวันได้

ขณะที่ “นางสาวชญาภา ไตรวิทยานุรักษ์” หรือน้องแฮม นักเรียนชั้น ม.5 สะท้อนมุมมองว่า สื่อโซเชียลมีเดียมีประโยชน์ ช่วยค้นหาข้อมูล หรือหาความรู้เพิ่มเติมในสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตามในส่วนของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก่อนที่จะโพสต์อะไรต้องมีสติ คิดให้ดีว่าสิ่งนั้นสมควรหรือไม่ ต้องรู้จักแบ่งเวลาไม่ใช้สื่อโซเชียลมากเกินไป และควรนำเวลาว่างไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์ ทดแทนการท่องโลกโซเชียล

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันปกป้องเด็กและเยาวชน จากภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ สสส. ขอสนับสนุนการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ ปรับแก้ปัญหาด้วยความรักและความเข้าใจ เป็นครอบครัวยุคใหม่ ที่ช่วยสร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อโซเชียลมีเดีย ให้กับเด็กและเยาวชน

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube