fbpx
Home
|
ทั่วไป

สธ.ส่งวัคซีนโควิด13จังหวัดมีผลข้างเคียง5คน

Featured Image
สธ.กระจายวัคซีนโควิด-19 แล้ว 13 จังหวัด พบผู้มีผลข้างเคียง 5 คน ปัดมี VIP ขณะปลัดสธ.จ่อตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องดังกล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงแนวทางการกระจายวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขยังคง
ดำเนินการตามแผนเดิมที่วางไว้ 2 ระยะ ระยะแรก กรณีที่มีวัคซีนจำกัด จะเน้นฉีดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า, บุคคลที่มีโรคประจำตัว, ผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) ระยะที่ 2 กรณีมีวัคซีนเพียงพอ จะเน้นฉีดบุคลากรทางการแพทย์ ที่นอกเหนือจากด่านหน้า, ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว, ผู้ที่ต้องเดินทางระหว่างประเทศ, นักการทูต และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ซึ่งแผนการจัดหาวัคซีน นั้น ประกอบด้วย ช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 64 ใช้ วัคซีน Sinovac จำนวน 2 ล้านโดส, เดือน มิ.ย. – ส.ค. 64 ใช้ วัคซีน AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดส และ เดือน ก.ย. – ธ.ค. 64 ใช้วัคซีน AstraZeneca จำนวน 35 ล้านโดส

ทั้งนี้ ระยะแรก ช่วงเดือน มี.ค. กระทรวงสาธารณสุขจะกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ 13 จังหวัดซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก จำนวน 200,000 โดส ซึ่ง 13 จังหวัดดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น สมุทรสาคร, ปทุมธานี และ กทม. โดยมี 4 จังหวัด คือ ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) และ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่เดือนเม.ย. จะกระจายวัคซีนจำนวน 800,000 โดส ในกลุ่มเป้าหมาย 18 จังหวัด และในระยะที่ 2 จะมีวัคซีน 61 ล้านโดส กระจายในทุกจังหวัด

โดยปัจจุบัน กระทรวงฯ ได้ส่งวัคซีนไปถึงหน่วยบริการเป้าหมาย 13 จังหวัด แล้ว 116,520 โดส ซึ่งผลการให้บริการล่าสุดพบผู้มีอาการไม่พึง
ประสงค์ หลังได้รับวัคซีน 5 ราย แบ่งเป็น 4 ราย มีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด และอีก 1 ราย มีอาการคลื่นไส้อาเจียน จากจำนวนผู้รับวัคซีนล่าสุด
3,021 คน

 

นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังยืนว่า ขณะนี้ไม่มีการเปิดให้บริการจองวัคซีน ผู้จะได้ฉีดต้องเป็นบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงฯกำหนดเท่านั้น ซึ่งกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าที่จ.เชียงใหม่ พบการฉีดวัคซีนให้กับบุคคล VIP นั้น จากการตรวจสอบพบรายชื่อบุคคลกลุ่มเป้าหมายของจังหวัด 1,450 คน ภาพรวมวันแรกมีผู้รับวัคซีน 140 คน แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 73 คน อีก 67 คน เป็นเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ยืนยันไม่ใช่ VIP แต่เป็นบุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคโควิด-19 และมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าส่วนราชการ, ปกครอง, ทหารและ ตำรวจ เช่นกรณีที่มีทหารยศสัญญาบัตรมาฉีด เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเป็น VIP ก็คงไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ถูกต้องทั้งหมด แต่ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวถือว่าได้รับความสนใจจากประชาชน ซึ่งทางนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็จะตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากระทรวงฯดำเนินการตามมาตรการอย่างตรงไปตรงมา

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube