fbpx
Home
|
ทั่วไป

รัฐเร่งส่งเสริมประกอบการเลี้ยงหมู

Featured Image

สวนทางธุรกิจไฮเทค HIGH RISK HIGH RETURN เกษตรกรเลี้ยงหมูไทย เสี่ยงสูง แต่กลับถูกควบคุมราคา ล่าสุดรัฐเร่งส่งเสริม เพิ่มผู้ประกอบการหลังสำรวจจำนวนเกษตรกรเลี้ยงหมูลดลงอย่างมาก

รายงาน Industrial Insight ธุรกิจฟาร์มสุกร ของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี  เปิดเผยว่า  ในปี 2564-2565  ธุรกิจฟาร์มสุกรจะมีแนวโน้มการเติบโตในกรอบต่ำที่ร้อยละ 0.6 – 1.1 แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่องและการขยายตัวของตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กัมพูชา ลาวเวียดนาม และ เมียนมา เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการระบาดของโรคแอฟริกาในสุกร(African Swine Fever : ASF) ทำให้มีความต้องการสุกรมีชีวิตจากไทยไปทดแทน

แต่พบว่าการผลิตสุกรขุนของไทยในปี 2563 อยู่ที่ 22.41 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 0.53 เนื่องจากเกษตรกรขาดทุนจากการเลี้ยงสุกรที่ราคาสุกรมีชีวิตตกต่ำตั้งแต่ช่วงปี 2561  ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ในปี 2558-2562 ลดลงถึงร้อยละ 1.74 ต่อปี  แม้ว่าราคาสุกรมีชีวิตในปี 2563 ปรับสูงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.95 เนื่องจากมีอุปสงค์จากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ส่งออกได้ต่อเนื่องหลังจากคลายล็อกดาวน์โควิด-19 ก็ตาม แต่สุกรในฟาร์มโตไม่ทัน ส่งผลให้สุกรเริ่มขาดตลาด เนื่องจากเกษตรกรทำฟาร์มสุกรลดลงจากการขาดทุนสะสมต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 จรกระทั่งช่วงวิกฤตโควิด-19

ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงแนวโน้ม ปี 2564 ระบุว่าการผลิตสุกรในไทยมีปริมาณ 20.50 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 0.24 แม้ว่าราคาสุกรมีชีวิตจะปรับสูงก็ตามแต่ไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต ทั้งที่เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มและป้องกันโรคระบาดได้เป็นอย่างดี สามารถทำให้ประสิทธิภาพในการเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย  ซึ่งจีนยังคงเป็นประเทศที่นำเข้าเนื้อสุกรมากที่สุดของโลก คือ 4.50 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น 1.45 ล้านตัน และเม็กซิโก 0.99 ล้านตัน ถือเป็นโอกาสของไทย

แหล่งข่าวจากวงการเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เปิดเผยว่า อาชีพเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพที่มีแต่ความยากลำบาก ติดหล่มวงจรอุบาทว์ “เสีย 3 ปี ดี 1 ปี”  และต้องได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพมาโดยตลอด เพราะต้องขายในราคาขาดทุนเพื่อให้ผู้บริโภคจับจ่ายได้ในราคาต่ำ เมื่อแนวโน้มส่งออกดี ก็ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะต้องห่วงใยคนในประเทศให้มีเนื้อหมูบริโภค เรียกได้ว่า ประชาชนท้องอิ่ม แต่เกษตรกรอดตาย ต้องรับภาระขาดทุนสะสมมายาวนาน ทั้งที่อาชีพนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงอุตสากรรมไฮเทค ไอที หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ หากรัฐบาลไม่เข้ามาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการมีนโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตร  เชื่อมั่นว่าในไม่ช้าเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจะหดหายไปจากประเทศไทยจำนวนมาก เราอาจต้องนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube