fbpx
Home
|
ทั่วไป

เจาะประเด็น “ปัญหาหมอกควัน การสื่อสารที่ตั้งรับและไม่เข้าใจ“

Featured Image
โครงการตรวจสอบข่าวปลอมฯ ของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา “ Share มุมข่าวเล่าเบื้องลึกจากคนทำสื่อ” ประเด็น “ปัญหาหมอกควัน การสื่อสารที่ตั้งรับและไม่เข้าใจ”  และ “ปัญหาการสื่อสาร โควิด-๑๙ กับกลุ่มชนชาติพันธุ์ บนความไม่รู้”

 

วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย ของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดเสวนา Share มุมข่าวเล่าเบื้องลึกจากคนทำสื่อ  ” ประเด็น “ปัญหาหมอกควัน การสื่อสารที่ตั้งรับและไม่เข้าใจ “  และ “ ปัญหาการสื่อสาร โควิด-๑๙ กับกลุ่มชนชาติพันธุ์ บนความไม่รู้ “

โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ตัวแทนจากเครือข่ายโครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาสังคม นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน เครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ นายบรรจง นะแส สมาคมรักทะเลไทย เครือข่ายประมงพื้นบ้าน นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ สื่อท้องถิ่นอีสานบิซและเครือข่ายประชาสังคมภาคอีสาน นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่ เครือประชาสังคมภาคเหนือ  เครือข่ายนักวิชาการประกอบด้วย ผศ.ดร.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร. สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการ ประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพข่าว นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค สื่อมวลชนอิสระ  ประธานชมรมผู้สื่อข่าวออนไลน์ ที่ปรึกษาโครงการตรวจสอบข่าวปลอมฯ นายภัทระ คำพิทักษ์ สื่อมวลชนอิสระ ที่ปรึกษาโครงการตรวจสอบข่าวปลอมฯ นายมนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอิสระผู้จัดรายการวิทยุ FM ๙๖.๕ อสมท. นายภัทราวุธ บุญประเสริฐ แอดมินแฟนเพจเลยไทม์ออนไลน์ นางสาววริษฐา ภักดี บก. ลานนาโพสต์ออนไลน์  นายเอกรัตน์ บรรเลง ผู้สื่อข่าวอาวุโส Manager Online ภาคเหนือ นายบัณรส บัวคลี่ สื่อมวลชนอิสระ คอลัมนิสต์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ นายธีรพล บัวงาม ผู้ช่วยบรรณาธิการสื่อออนไลน์ เครือข่ายพลเมือง  TPBS นางอัจฉราวดี บัวคลี่ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง Thai PBS

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรวิชาชีพสื่อ นายโกศล สงเนียม รักษาการประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายอิทธิพันธ์ บัวทอง กรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยมีนายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยนายเอกรัตน์ บรรเลง ได้เปิดประเด็นเสวนา ถึงปัญหาหมอกควันที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน และก็นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมาขึ้น แบ่งออกเป็นปัญหาหมอกควันพื้นที่ภาคเหนือ และ กทม. ซึ่ง กทม. ส่วนใหญ่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การจราจร ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ เป็นเรื่องของการเผา ไฟป่า จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจ และ ส่วนหนึ่งเกิดจากหมอกควันข้ามพรมแดน การเผาป่าเพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่ไถนา ประกอบกับวิถีชาวบ้านท้องถิ่น เนื่องจากการเป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุด ประกอบกับการทำการเกษตรเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ ทั้งนี้แต่ละพื้นที่ แต่ละหมู่บ้าน มีบริบทที่ต่างกัน การนำนโยบายในกรอบเดียวกัน หรือ นโยบายส่วนกลางมาจัดการปัญหาจึงไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะยังมองปัญหาอยู่ในมิติเดียวคือปัญหาจากควันท่อไอเสีย เกษตรกรและพี่น้องชนเผ่า เผาเพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่ แต่ปัญหาในปัจจุบันมันขยายไปถึงการขยายพื้นที่ทางการเกษตรของพี่น้องชนกลุ่มน้อยในพม่าประเทศเพื่อนบ้านเรา สื่อเองก็ไม่ได้นำเสนอในข้อมูลเหล่านี้อย่างเพียงพอ จึงไม่อาจปลุกกระแสข่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อปัญหาจางไป พื้นที่สื่อก็จะหายไปด้วย

นายธีรพล บัวงาม ได้สะท้อนออกมาว่า ปัญหาโควิด-๑๙ ซึ่งสภาวะที่เผชิญอยู่เป็นสภาวะที่ไม่ปกติของข้อมูลข่าวสาร ทั้งตัวเทคโนโลยีที่ไปปรับพฤติกรรมการสื่อสาร และบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน สื่อท้องถิ่น ซึ่งสื่อที่มีจำนวนมากในปัจจุบันการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมีหลายทิศหลายทาง นิเวศน์การสื่อสารที่เปลี่ยนไป

ส่วนประเด็นข้อมูลบิดเบือนที่ไปกระทบกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรงจะค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่คือความผิดพลาดคลาดเคลื่อน จากการใช้ภาษา การไม่เข้าใจในบริบททางวัฒนธรรม ทั้งเจตนาและไม่เจตนา และการแชร์ข้อมูลต่อๆ กัน ดังนั้นทำยังไงให้ข้อมูลข่าวสารห้อมล้อมไปด้วยบริบทของพื้นที่ สามารถทำให้เกิดนิเวศน์ที่ดีมากขึ้น ยิ่งเมื่อเจอปัญหาโควิด ทำให้เห็นภาพของชาวเขามีน้ำใจ หยิบยื่นการช่วยเหลือ แต่ยังขาดการนำเสนอให้เข้าใจถึงบุคคลกลุ่มนี้อย่างจริงจัง

สำหรับการให้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างจำกัด ภาษาพื้นถิ่น และมีการทำงานสื่อสารภาพกว้าง ยังไม่ได้มีการดึงกลุ่มคนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงยังไม่มีฐานข้อมูลที่จะเข้าไปบริหารจัดการได้

นางสาววริษฐา ภักดี ได้แสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมา ลานนาโพสต์ออนไลน์  ได้เสนอข่าว PM ๒.๕ อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่สื่อท้องถิ่นต้องเจอ ในกรณีการรายงานค่า PM ๒.๕ ค่า AQI จะใช้ฐานข้อมูลจากแหล่งไหน เนื่องจากมีฐานข้อมูลเยอะมาก ซึ่งมีทั้งของเอกชน กรมควบคุมมลพิษ DustBoy เชียงใหม่ที่ทำจากการรีพอร์ตผลแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้เมื่อนำเสนอผลจากการอ้างอิงไปกลับเจอเอฟเฟคทั้งภาครัฐและประชาชนกลับมาว่าฐานข้อมูลสูงเกินไป  ซึ่งเป็นปัญหาว่าจะใช้ข้อมูลจากส่วนไหนเป็นหลัก ซึ่งมองว่าควรจะมีการบริหารจัดการข้อมูลที่เป็นศูนย์กลางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบได้

นายภัทราวุธ บุญประเสริฐ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในส่วนของจังหวัดเลยปัญหาหมอกควันจะรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งในพื้นที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาไฟป่าเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการขยายพื้นที่การเกษตร เพื่อป้องโรงงานน้ำตาล ซึ่งนอกจากมลพิษที่ออกมาจากโรงงานแล้ว ยังมีการเผาอ้อยเพิ่มขึ้น  ในส่วนข้อมูลจากทางภาครัฐ การนับสถิติการเกิดไฟป่าจะนับเฉพาะพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งจะน้อยกว่าจากความเป็นจริงมาก อาจเป็นการบิดเบือนของข้อมูลแบบไม่ตั้งใจจากการรวบรวมข้อมูล

ทั้งนี้สื่อเองก็มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ภาครัฐ และเอกชน ก็กระตือรือร้นในการแก้ปัญหารวมถึงรณรงค์ให้เกษตรตัดอ้อยสด แต่เกษตรกรก็ยังใช้วิธีเผาเช่นเดิมเนื่องจากไม่มีแรงงานและต้นทุนต่ำ

นายบัณรส บัวคลี่ มองว่าปัญหาหมอกควัน ไม่ใช่แค่เรื่องของพื้นที่ภาคเหนือ แต่เป็นเรื่องของภูมิภาคเป็นเรื่องของรัฐนาวาไท ในเรื่องของโครงสร้างทางการผลิต ไฟที่เกิดจากการผลิต ทั้งนาข้าว และ ไร่อ้อย การขยายตัวของพื้นที่ทำกินของพี่น้องชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทยพม่า  คือตัวที่สร้างปัญหาที่สร้างหมอกควัน แต่รัฐเองยังไม่ได้เข้าถึงข้อมูลและยังไม่ได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและการสื่อสารที่เข้าใจ โดยสื่อเองจะถูกหน่วยงานรัฐใช้เป็นเครื่องมือ เพราะมองว่าเป็นปัญหาจากภัยพิบัติ ทั้งที่จริงแล้วคือปัญหาของนโยบายโครงสร้างการผลิตที่ไม่สมบูรณ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากที่สื่อจะถูกใช่เป็นเครื่องมือในการบิดเบี้ยวข่าวสาร หรือ ข่าวเฟคนิวส์ ว่าเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหา และผลของมันทำร้ายประชาชน

 

ขณะที่ปัญหาชนกลุ่มน้อย มองว่ามีอยู่สามมิติ คือมิติการจัดการกับชาวบ้าน มีความไม่เข้าใจนิยามปัญหาที่แตกต่างกัน รัฐเองก็เข้าไม่ถึง และเรื่องการทำมาหากิน ต้องการบริหารจัดการให้มีอาชีพ

นางอัจฉราวดี บัวคลี่ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาฝุ่นควันไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพ สาเหตุจากเผาป่า ขยะ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โจทย์ใหญ่ก็คือปัญหาหนี้ และ น้ำ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านมีน้ำในการผลิตอยู่บนพื้นที่สูงได้ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ หรือนโยบายที่จะได้รับที่ดินเพื่อความมั่นคงก็เป็นอุปสรรคที่จะปลูกพืชยืนต้นมากกว่าข้าวโพด โจทย์ที่ตอบได้คือ ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชผลิตที่ทนแล้งและสามารถสร้างรายได้ได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เป็นปัญหาภาพใหญ่เชิงโครงสร้างที่โยงกับนโยบาย แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่ค่อยได้มีการพูดคุยถึงการแก้ปัญหา

ทัศนคดีในภาคประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้นปัญหาหมอกควันเป็นกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมดล้วนเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้งนี้สื่อภาคประชาชนเองได้พยายามแก้ปัญหาในการนำเสนอ พยายามรณรงค์ พยายามสื่อสารถึงปัญหา อธิบายเหตุผล และการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม แต่หัวใจใหญ่ในการแก้โจทย์คือการผลักดันเชิงนโยบายของภาครัฐ โดยสื่อเองต้องทำงานหนักมากขึ้น ทำให้เห็นภาพรวมของบริบททั้งหมด

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเชิงนโยบาย แต่มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอคติ ยังยึดติดว่าปัญหาเกิดจากการเผา ของชาวบ้าน ชนเผ่า การเอียงข้างของสื่อ หรือ ข้อมูลเอียงข้าง ถ้าสื่อสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐมากเกินไปก็จะใช้แต่ข้อมูลรัฐ ถ้าสื่อสัมพันธ์ กับชาวบ้านหรือองค์กรพัฒนาเอกชนสื่อก็จะโน้มเอียงมาทางประชาชน ไม่พูดถึงภาคอุตสาหกรรม โรงงาน การคมนาคมขนส่ง และการขาดข้อมูลของพื้นที่ วิธีการจัดการการเผา  ดังนั้นสื่อต้องมีชุดข้อมูลที่มีพื้นที่ในการนำเสนอถ่วงดุลทั้ง ๒ ด้าน

ด้านเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่าง นายเจริญลักษณ์ เพชรประดับ นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน และ นายบรรจง นะแส  มีมุมมองที่ไปในทิศทางเดียวกันว่า  ปัญหา PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่เป็นปัญหาสถานการณ์โลก ที่กระทบกลุ่มคนจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ผลกระทบแบบทันทีทันใด สื่อเองยังมีข้อจำกัดในแง่ของการนำเสนอถ้าข่าวที่ถูกนำเสนอไปกระทบหน่วยงานรัฐหรือนายทุน

ทั้งนี้ภาคประชาสังคมตระหนักถึงปัญหา จุดประเด็นโดยการใช้สื่อภาคพลเมืองขับเคลื่อน กลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องย้อนกลับมาดูปัญหา

นอกจากนี้สื่อต้องสร้างกระบวนการเครือข่ายเพื่อช่วยในการสื่อสารการแก้ปัญหา

ผศ.ดร. สิงห์ สิงห์ขจร มองว่า ปัญหาหมอกควัน และโควิด-๑๙ ต้องทำความเข้าใจบริบทของพื้นที่ บริบทของชุมชน ถ้าไม่เข้าใจจะทำให้ไม่สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ ภาษาที่ใช้แตกต่าง ต้องใช้สื่อใดที่จะเข้าไปหาเป้าหมาย และการสื่อสารให้คนในพื้นที่ส่วนสำคัญสื่อท้องถิ่น ที่จะเข้าใจบริบทที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่มากกว่าสื่อส่วนกลาง แต่ต้องมีกลไก ช่องทาง ในการเข้าถึง เช่นผ่านเครือข่าย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การสร้างเครือข่าย อปท. จะมีการส่งข้อมูลที่ถูกต้องไปยังพื้นที่เป้าหมาย การสร้างพื้นที่ในโลกออนไลน์ สร้างเครือข่ายออนไลน์  เปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

ผศ.ดร. บุปผา บุญสมสุข มองว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในการนำเสนอของสื่อดั้งเดิม เป็นข่าวที่สื่อให้ความสำคัญ เพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่เมื่อสื่อเข้าระบบธุรกิจ พื้นที่ข่าวสิ่งแวดล้อมจะลดน้อยลง ทั้งนี้มองว่าทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อท้องถิ่นต้องให้พื้นที่กับข่าวสิ่งแวดล้อม ส่วนสื่อท้องถิ่น เข้าใจบริบทของปัญหาได้ดี หรือแม้แต่เรื่องของโควิด-๑๙ สื่อที่ไม่ได้อิงผลประโยชน์กับฝ่ายใด ภาคประชาสังคม สื่อพลเมือง อาจจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ส่วนประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทัศนคติเริ่มดีขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่อาศัยในประเทศไทย มีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษาใช้ที่ชัดเจน เป็นกลุ่มที่มีอารยธรรมเป็นของตัวเอง ในแง่ของสื่อให้ความสำคัญเรื่องประเพณี มองว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในแง่ของปัญหาจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความไม่เท่าเทียม

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube