fbpx
Home
|
ทั่วไป

รบ.รับส่งมอบวัคซีนมีปัญหาลุยเจรจานำเข้าให้มากสุด

Featured Image
รัฐบาล รับส่งมอบวัคซีนอาจมีปัญหา ยันไม่หยุดเจรจานำเข้าให้มากที่สุด ย้ำ “ไฟเซอร์-จอห์นสันฯ-สปุตนิกวี” จ่อเพิ่มเติมเข้ามา ขณะ เพิ่มเตียง รพ.บุษราคัม 1,000-2,500เตียง

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลง ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแผนการส่งมอบหรือแผนการกระจายวัคซีน ที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นไปตามเป้า ว่า ได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม. ว่า

อาจมีเรื่องการส่งมอบที่จะนำเข้ามา ซึ่งในปัจจุบันหากมีปัญหา ด้านกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลเองก็มีการเจรจาเพิ่มเติมกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเข้าจากไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุตนิกวี ที่จะมีการเพิ่มเติมเข้ามา

โดยยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการนำเข้าวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อมาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

 

โฆษกแจง เพิ่มเตียง รพ.บุษราคัม ประมาณ 1,000 – 2,500 เตียง พร้อมเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มอีก 17 แห่ง อีกทั้งส่งเสริมการใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างจริงจัง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการการรักษา ว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในครั้งนี้ ต้องยึดหลักเกณฑ์สำคัญ คือ การเข้าถึงง่าย ขยายศักยภาพ โดยเพิ่มจำนวนเตียงให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของอาการ

ทั้งเกณฑ์สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้มีการเพิ่มเตียงโรงพยาบาลบุษราคัม ประมาณ 1,000 – 2,500 เตียง ทำให้มีจำนวนเตียงเพิ่ม ถึง 4,000 เตียง และยังมีการเปิดศูนย์ พักคอย อีก 17 แห่ง รองรับผู้ป่วยกว่า 2,560 เตียง และจะเสริมเพิ่มเติมเข้าไปให้ครบ 3,000 เตียงต่อไป เพื่อที่จะคัดแยก แรกรับผู้ป่วยและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ หรือให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านหากอาการดีขึ้น

พร้อมได้อนุมัติให้มีการดำเนินการ ตามมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home isolation และการกักตัวในชุมชน Community isolation มาใช้ สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียว ที่หลายเคสอาจจะหายได้เอง โดยไม่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล หรือผู้ป่วยที่ใกล้หายดีแล้วก็จะกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

โดยจะมีการวัดไข้วัดค่าออกซิเจนในเลือด โดยมีแพทย์พยาบาลติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบ Telemedicine วันละ 2 ครั้ง ซึ่งรัฐจะสนับสนุนในเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ อย่างเต็มที่ ในการบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ถังยาเวชภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหารทุกมื้อ ไม่ต่างกับการเข้ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลทั่วไป

รวมทั้งมี อสม. เข้าไปดูแลในพื้นที่ในระหว่างการรักษา ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล และเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่ติดเชื้อ เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมกับอาการมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ป่วยสีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลขณะนี้ คิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งหากบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วจะมีเตียงเพิ่มขึ้นอีก 40-50% และจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข นอกจากนี้มีข่าวดี คือเราสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ได้เองและกำลังขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อนำมาใช้โดยทันทีลดการนำเข้า ซึ่งขณะนี้มีอัตราการผลิตอยู่ที่ 3-5 ล้านเม็ดต่อเดือน

โดยจะเร่งกระจายไปยังสถานพยาบาลโรงพยาบาลสนามต่างๆ ทั่วประเทศอย่างพอเพียง และไม่สต๊อกไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ตั้งแต่อาการเริ่มแรก และเพื่อลดผู้ป่วยอาการหนักตั้งแต่ต้น พร้อมการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร อย่างจริงจัง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือผู้ป่วยที่แยกกับตัวที่บ้าน ควบคู่กับยาหลักตามคำแนะนำของแพทย์

 

รัฐบาลปลดล็อก 2 เรื่อง เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรองในโรงพยาบาล เปิดรับการตรวจให้ประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด 19 ว่า ได้มีการปลดล็อคใน 2 เรื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบคัดกรองในโรงพยาบาล เปิดรับการตรวจให้กับประชาชน แม้จะไม่มีเตียงรองรับ แต่เมื่อพบว่า มีการติดเชื้อต้องลงทะเบียนเข้าระบบเพื่อแยกกักตัวและรักษาต่อไปตามอาการทันที

โดยสถานพยาบาลนั้น จะต้องทำหน้าที่ประสานงานในเบื้องต้น เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องของการโดนปฏิเสธการตรวจในทันที นอกจากนี้ ยังได้มีการปลดล็อกให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ที่ทาง อย.ได้อนุญาต ให้นำเข้า เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงได้ตรวจหาเชื้อในเบื้องต้น ซึ่งหากตรวจแล้วมีผลเป็นบวกจะต้องตรวจซ้ำด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR หรือSwab Test ที่ จมูก เพื่อยืนยันผลการติดเชื้อก่อนเข้า ระบบแยกการรักษาต่อไป

ซึ่งชุดตรวจดังกล่าวจะมีการกระจายไปยังโรงพยาบาล หรือคลินิกชุมชน สามารถใช้ได้ทันที ทั้งนี้ในส่วนที่ จะให้ประชาชนซื้อไปใช้เอง ในระยะต่อไปรัฐบาลกำลังดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เพื่อปลดล็อกให้ได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมไปถึงเรื่องของการควบคุมราคาด้วย

ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการกำชับว่าราคาจะต้องไม่แพงประชาชนจะต้องไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ทั้งวัคซีนทางเลือกและชุดตรวจ Antigen Test Kit ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐบาล ไม่ได้มีการเก็บภาษีนำเข้า

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ศบค. ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองระดับชุมชนโดยมีการจัดทีมเคลื่อนที่เร็ว แบบเบ็ดเสร็จ (Primary care teenage) จำนวน 200 ทีม ซึ่งประกอบบุคลากรทางการแพทย์ ฝ่ายความมั่นคง และบุคลากรของเขตทั้ง 50 เขต ทัวร์กรุงเทพฯทำหน้าที่ค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน เพื่อคัดกรองแยกผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลให้ได้โดยเร็ว

ขณะที่เรื่องการกักตัว ถือว่ามีประสิทธิภาพดีตั้งแต่ต้น สามารถรองรับการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่วนแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานผิดกฎหมาย ได้มีระบบรองรับตั้งแต่แนวชายแดน ประกาศให้คนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาได้โดยไม่ต้องลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ซึ่งแรงงานต่างด้าวต้องผ่านระบบคัดกรอง ถึงจะมีการจ้างงานรองรับ ผ่านระบบลงทะเบียนจัดหางานล่วงหน้า

 

รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านโดสใน 2 สัปดาห์ หวัง ล็อกดาวน์ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสื่อมวลชนว่าเนื่องจากปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีความรุนแรงและติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านๆมาทำให้ต้องเป็นปัญหาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ด้วย จึงได้มีการกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มมีการออกข้อกำหนดเรื่องกิจกรรมและเวลา เพื่อลดการแพร่ระบาด ดังนั้น การบริหารจัดการของรัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับให้ เกิดความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้นตามไปด้วย จึงได้มีการปรับเปลี่ยนและปลดล็อคในหลายเรื่อง เพื่อเอาชนะเชื้อโควิด-19 ในช่วงนี้ให้ได้เร็ว โดยแบ่งงานออกเป็น 4 ระบบได้แก่ การป้องกัน ในภาพรวม การจัดหาและการ ฉีดวัคซีน จะต้องให้เร็วและฉีดให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งฉีดให้ ประชาชนได้มากถึง 12 ล้านโดส และในปัจจุบันจะเร่งกระจายและฉีด อีก 5.4 ล้านโดส โดยเน้นลดการสูญเสียในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นหลัก เพราะกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม จึงต้องระดมฉีด ให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านโดสภายใน 2 สัปดาห์นี้ และหวังว่า การจำกัดการเคลื่อนย้ายการเข้า-ออกพื้นที่ จะทำให้สถานการณ์สามารถควบคุมได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ ในส่วนของประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนจากการศึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มตัวอย่างประมาณ 7 แสนคน ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทั้ง ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนกา พบว่า มีการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 700 กว่าคน คิดเป็น 0.01% ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีอาการหนักอยู่ที่ 3 ราย มีเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งหากเทียบกับการเสียชีวิตในภาพรวมในผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าการฉีดวัคซีน แม้ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ก็ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้อย่างมาก

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube