fbpx
Home
|
ภูมิภาค

พิษ“เตี้ยนหมู่”อุทกภัย32จังหวัดตาย8สูญหาย1

Featured Image
ปภ.สรุปอุทกภัยจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” รวม 32 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 8 ราย สูญหาย 1 ราย ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 23 ก.ย. – 4 ต.ค. 64 เกิดอุทกภัยใน 32 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 201 อำเภอ 1,046 ตำบล 7,144 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 271,092 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 8 ราย สูญหาย 1 ราย ยังคงมีสถานการณ์ 18 จังหวัด ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือประชาชนต่อไป

เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ระบุอุทกภัยจากพายุ “เตี้ยนหมู่”พื้นที่การเกษตรที่ประสบภัย จำนวน 991,136 ไร่

นายเศรณี อนิลบล เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ จัดประชุมเกษตรอำเภอทั้ง 15 อำเภอ เพื่อเร่งดำเนินการติดตามสถานการณ์และแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบภัยจากอุทกภัยจากพายุ “เตี้ยนหมู่” จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่การเกษตรต่าง ๆ ที่เกษตรกรได้รับผลกระทบ รวมทั้งสิ้น 15 อำเภอ 117 ตำบล 1,049 หมู่บ้าน รวมจำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 52,479 ราย มีพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัย จำนวน 991,136 ไร่ – ความเสียหายด้านพืช
1. ข้าวนาปี มีพื้นที่ประสบภัย 808,527 ไร่ ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ (ขาวดอกมะลิ 105) ซึ่งข้าวอยู่ระยะตั้งท้อง ถ้ามีน้ำท่วมขังในระดับสูงกว่าท้องข้าว ประมาณ 7 วัน จะทำให้ผลผลิตมีความเสียหายมาก อีกประมาณร้อยละ 40 เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเจ้าไม่ไวแสง ซึ่งข้าวมีทั้งระยะแตกกอ และออกรวง เนื่องจากบางพื้นที่ปลูกรอบที่ 1 ประมาณเดือนกรกฎาคม 2564 บางพื้นที่เป็นการปลูกรอบที่ 2 ถ้ามีน้ำท่วมขังมิดรวงข้าวจะทำให้ข้าวเป็นหมัน ไม่ให้ผลผลิต (ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์)
2. มันสำปะหลัง ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 6 – 8 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มันกำลังลงหัว ถ้ามีน้ำท่วมขังในแปลงจะทำให้หัวมันเน่าเสียหาย

ผลความก้าวหน้าในการให้ความช่วยเหลือ1. จังหวัดนครสวรรค์ ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเนื่องจากอุทกภัย เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน 2564 จำนวน 14 อำเภอ ครอบคลุม พื้นที่จำนวน 95 ตำบล 925 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่ประสบภัยที่จะต้องประกาศเขตเพิ่มเติมอีก
2. สำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ได้กำหนดจัดประชุมชี้แจงเกษตรอำเภอ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube