fbpx
Home
|
อาชญากรรม

เปิดขั้นตอน การขอเป็นผู้จัดการมรดก

Featured Image
รองโฆษกอัยการสูงสุด แจงขั้นตอน การขอเป็นผู้จัดการมรดก ระบุ ทายาท ต้องรับมาทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ว่า ตามกฎหมาย ในส่วนของ ทรัพย์มรดก คือทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนที่เจ้าของทรัพย์จะเสียชีวิต มีชื่อครอบครองอยู่ทั้งหมด อาทิ บ้าน รถยนต์ เงินในบัญชีธนาคาร เมื่อเจ้าของทรัพย์เสียชีวิตไป ทรัพย์นั้นจะกลายเป็นทรัพย์มรดก ซึ่งความหมายของ มรดก ตามกฎหมายจะตกทอดไปยังบุคคลใน 2 กรณี คือ

 

1.กรณีเจ้าของมรดกทำพินัยกรรมไว้ ว่า เมื่อตนเองเสียชีวิต ทรัพย์นั้นจะตกไปถึงใครบ้าง ก็ให้ปฏิบัติตตามนั้น โดยคนที่ถูกระบุ ได้ประโยชน์จากพินัยกรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทโดยธรรม เสมอไป เช่น ไม่จำเป็นต้องเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ได้ คือเมื่อเจ้าของทรัพย์ยกให้ใคร ก็ต้องเป็นของบุคคลนั้น เพราะถือว่าเป็นเจตนารมณ์ของจ้าของทรัพย์ก่อนที่จะเสียชีวิต

2.กรณีที่เจ้าของทรัพย์ไม่ได้ทำพินัยกรรม ก็ต้องเป็นเรื่องของการจัดการมรดก ดังนั้นคนที่จะไปร้องต่อศาลเพื่อขอจัดการมรดก มีหลักอยู่ว่า บุคคลนั้น จะต้องมีส่วนได้เสีย เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต เช่น บิดา มารดา หรือ อาจจะเป็นเจ้าหนี้ ก็ได้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนการจัดการมรดก มีหัวใจสำคัญคือ ผู้ที่เป็นผู้จัดการมรดก มีหน้าที่เพียงไปชำระสะสาง ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต แบ่งปันให้กับทายาทที่มีสิทธิ์ทุกคน ให้สำเร็จลุล่วงไป
ส่วนผู้ที่มีสิทธิ์จะได้ไปซึ่งมรดกของผู้เสียชีวิต ตามกฎหมาย ใช้หลักการที่ว่า “ญาติสนิทพิชิตญาติห่าง” หมายความว่า ถ้าผู้เสียชีวิตมีคู่สมรส จดทะเบียนสมรส ผู้ที่เป็นสามีหรือภรรยา ย่อมเป็นทายาท 1 คน เป็นลำดับชั้นเดียวกับลูก หรือ ถ้ามีลูกก็อยู่ในฐานะ 1 คน ส่วนพ่อ กับ แม่ ของผู้เสียชีวิต จะเทียบเท่ากับลูก 1 คน อย่างกรณีของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นิดา ที่ไม่มีครอบครัว ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นทายาท มีเพียงคนเดียว คือ พ่อ หรือ แม่ แต่กรณีนี้ คุณพ่อเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น แม่ จึงเป็นทายาทเพียงคนเดียวที่จะมีสิทธิ์ได้รับมรดก ส่วนพี่น้อง ไม่มีสิทธิ์ ในทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต

 

ส่วนวิธีการยื่นขอจัดการมรดก นั้น ผู้ร้องต้องไปยื่นเอกสารที่สำนักงานอัยการ ประจำจังหวัดทุกจังหวัด ที่สามารถดำเนินการจัดการมรดกให้ประชาชน เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 306 บาท กว่าบาท จากนั้น ก็ไปยื่นศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่ง ให้เป็นผู้จัดการมรดก และนำคำสั่งศาลไปจัดการโอนทรัพย์สินเป็นของตัวเอง

 

ส่วนกรณีของการทำประกันชีวิต เงินที่จะตกทอดหลังจากการเสียชีวิตนั้น ไม่ใช่มรดก เพราะได้มาหลังจากการเสียชีวิต แต่สิ่งที่เป็นมรดก คือเบี้ยประกันที่ส่งไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะได้เงินจากการเสียชีวิตของผู้ทำประกันไว้นั้น คือผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในกรมธรรพ์ประกันชีวิต

 

รองโฆษก อสส. ยังกล่าวด้วยว่า ผู้จัดการมรดก และเป็นทายาทที่ได้รับทรัพย์มรดก ต้องมีสิทธิและหน้าที่ เพราะหากผู้เสียชีวิตมีหนี้สิน อยู่ ทายาทที่ได้รับทรัพย์มรดกต้องรับสภาพหนี้ของผู้เสียชีวิตไปด้วย แต่ต้องไม่รับหนี้สินของผู้เสียชีวิตมากกว่าทรัพย์สินที่ได้รับ เช่น ได้รับทรัพย์มรดกมา 1 ล้านบาท แต่ ผู้เสียชีวิตมีหนี้สิน 2 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับทรัพย์มรดก ไม่จำเป็นต้องชดใช้หนี้สินให้เจ้าหนี้ทั้งหมดจำนวน 2 ล้านบาท แต่ให้ชดใช้ไปเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่า ผู้รับทรัพย์มรดก ก็ไม่ได้อะไร สรุปคือ ทายาทจำเป็นต้องรับทรัพย์มาทั้งสิทธิและหน้าที่ แต่ไม่รับหน้าที่เกินกว่าทรัพย์ที่ได้

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube