fbpx
Home
|
บันเทิงไทย

ชี้ “มะตูม” ติดเชื้อโควิดก่อนวันเกิด “อั้ม” เป็นไปไม่ได้

Featured Image

“ดร.นรินทร์” ชี้ “มะตูม” ติดเชื้อโควิดก่อนวันเกิด “อั้ม” เป็นไปไม่ได้! แจงปมจัดปาร์ตี้วันเกิดผิด-ไม่ผิด

กลายเป็นประเด็นอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว หลังจากที่ “มะตูม เตชินท์ พลอยเพชร” ติดโควิด-19 ขณะที่ “เต๋า ทีวีพูล” ออกมาโพสต์แฉคนดังทำไทม์ไลน์ปลอม บอกไม่หมด หรือไม่บอกเลย พร้อมอ้าง “อั้ม พัชราภา” ยังรู้ว่าติดโควิดนานแล้ว เลยสั่งห้ามเข้างานวันเกิด

รายการ “ถามสุดซอย” ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.10-11.00 น. ทางช่องเนชั่น ช่อง 22 ดำเนินรายการโดย “ธัญญ่า ธัญญาเรศ เองตระกูล” วันนี้ (27 มกราคม 2564) เปิดใจสัมภาษณ์ “เต๋า ทีวีพูล” ถึงประเด็นดังกล่าว มาพร้อม “ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล” รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานกรรมการศูนย์โควิด-19

โพสต์ว่าไทม์ไลน์ที่หายไป บอกไม่หมดหรือไม่บอกเลย หมายถึงอะไร เป็นประเด็นดราม่าเลย?
เต๋า : “ทำไมที่เขาพูด กับที่เรารู้กับแหล่งข่าวทำไมมันคนละแบบกัน เราก็เกิดข้อสงสัยเกิดขึ้น”

แล้วคนที่เรารู้มา เขาจะรู้ไทม์ไลน์เจ้าตัวได้ไง?
เต๋า : “เขาก็อยู่แถวๆ นั้นแหละค่ะ เรื่องนี้ได้ยินมาสักพักแล้ว ได้ยินว่ามีดาราคนนึงไม่ได้เข้างานวันเกิด ทีแรกเราฟังผ่านหูเฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไร ก็ถามว่าทำไมถึงไม่ได้เข้า เขาบอกว่าคนที่มาจากเชียงใหม่ห้ามเข้า เป็นงานวันเกิดดาราคนหนึ่ง เราก็ถามว่าทำไมไม่ให้เข้า ปกติรักกันดี เขาบอกว่าไม่รู้สิ เซ็ตที่มาจากเชียงใหม่ห้ามเข้า”

ไปเชียงใหม่ด้วย?
เต๋า : “แหล่งข่าวเขาบอกมาอย่างนั้น เขาไม่ได้เล่าตอนเชียงใหม่ว่าไปเจอใครอะไรยังไง เล่าไม่หมด หรือไม่อยากจะเล่า เราก็ไม่แน่ใจ เราสงสัยในฐานะสื่อมวลชน”

ไทม์ไลน์ที่หายไป หมายถึงแค่ที่เชียงใหม่?
เต๋า : “ใช่ค่ะ เขาไม่ได้เล่าเรื่องเชียงใหม่”

ประเด็นที่มีการแพร่ระบาด เกิดจากงานวันเกิดที่จัดวันที่ 9 ม.ค.?
เต๋า : “เขาว่าที่บายันทรี แต่แหล่งข่าวรายงานว่าไม่น่าจะใช่ สงสัยกันว่าน่าจะเกิดที่เชียงใหม่หรือเปล่า อาจเป็นงานปาร์ตี้เล็กๆ (หัวเราะ) ที่เราไม่สามารถพูดออกอากาศได้ มันเสี่ยง คนไม่เยอะเท่าไหร่ เป็นเรื่องราวที่ต้องเขียนให้คุณธัญญ่าอ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถพูดออกอากาศได้”

คุณหมอรู้สึกอย่างไรบ้างกับการระบาดครั้งนี้ที่เกิดขึ้นจากงานวันเกิดที่เป็นข่าว?
ดร.นรินทร์ : “หลักการทางการแพทย์ สาธารณสุขในการป้องกันควบคุมแพร่ระบาดโควิด-19 อาศัยหลักง่ายๆ คือตรวจให้เจอ สืบสวนสอบสวนว่าใครสัมผัสผู้ติดเชื้่อบ้างเพื่อแยกกักไม่แพร่ต่อ สุดท้ายคือการให้การดูแลรักษา กระบวนการสืบค้นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อเป็นกระบวนการสำคัญทำให้เรารู้ได้ว่าใครบ้างมีโอกาสติดเชื้อ ให้เขามารับการตรวจ ดังนั้นข้อมูลต่างๆ ผู้ติดเชื้อถือว่าสำคัญ ในการทำให้สาธารณสุขสืบค้นผู้สัมผัสและรีบดำเนินการตรวจเขาได้”

ถ้ามีไทม์ไลน์ที่หายไปจริง จะมีผลมั้ย?
ดร.นรินทร์ : “ถ้าเป็นอย่างนั้น โอกาสที่จะให้เขามารับการตรวจ ก็อาจจะพลาดไป”

เต๋าคิดว่าข่าวที่บอกว่ามีคนนึงเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ที่ไม่ใช่มะตูม แต่เป็นเพื่อนที่ร่วมงาน คิดยังไง?
เต๋า : “ไม่รู้สิ แต่ที่ทราบมามันคนละม้วนกัน กับที่เป็นข่าว มันอาจเป็นเรื่องเดียวกัน แต่พอหนังฉายมันเป็นคนละเรื่องกัน”

ถ้าเรื่องนึงที่เกิดขึ้น คนนึงเล่าก็อีกอย่าง อีกคนเล่าก็อีกอย่าง?
เต๋า : “เวลาเล่าต้องเริ่มจาก 1 ไม่ใช่เล่าตั้งแต่ 5 มันต้องเล่ามาให้หมดว่าติดจากใคร ในนั้นมีใครบ้าง เพราะแหล่งข่าวที่รายงานเขาก็บอกว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์ แต่อยู่ในเหตุการณ์ข้างนอก และเล่าให้ฟัง”

อย่างคุณมะตูมไม่มีอาการใดๆ เราจะรู้ตัวเองได้ยังไง?
ดร.นรินทร์ : “นี่เป็นปัญหา เพราะผู้ป่วยโควิดในบ้านเรา เราเชื่อว่า 60-80 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่แสดงอาการเลย หรือมีอาการไม่มาก เช่นอาจมีปวดเมื่อย เป็นไข้นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งทำให้เราขาดความระวังไปนิดนึง ดังนั้นประวัติมีความสำคัญ ประวัติไปในบางที่ที่มีโอกาสสัมผัสคนเยอะๆ บางท่านเข้ามาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องระวังว่าเราอาจจะมีโอกาส ถ้าไม่ใส่หน้ากากอนามัยเข้าไปในงาน หรือไม่ได้ดีสแทนซิ่ง การกินอาหารด้วยกัน มีร้องเพลง ก็ต้องยอมรับว่านั่นคือความเสี่ยงที่เราอาจมีโอกาสติดโควิดได้ ก็ต้องไปตรวจคัดกรองหรือตรวจบางอย่างที่สถานพยาบาล”

ซูเปอร์สเปรดเดอร์คืออะไร?
ดร.นรินทร์ : “ปกติคนติดเชื้อโควิด 1 ราย จะแพร่เชื้อให้คนรอบๆ ที่ไม่มีภูมิได้ประมาณ 2-3 คน ฉะนั้นกรณีคนติดเชื้อ 1 คน และแพร่เชื้อให้คนรอบข้างติดมากกว่า 5 หรือ 10 เท่า เราก็ถือว่าเข้าข่ายแพร่กระจายเชื้อมากผิดปกติ เราก็เลยเรียกซูเปอร์สเปรดดิ้ง”

ถ้าภาษาอังกฤษเรียกว่าซูเปอร์สเปรดดิ้ง?
ดร.นรินทร์ : “ใช่ครับ ความเป็นจริงแต่ละคนแพร่เชื้อไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเขาคนเดียว ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม และสถานที่ที่เขาไป อย่างเช่นที่มีข่าวว่ามีการติดในเครื่องบิน เรือสำราญ รถโดยสาร หรือการเข้าไปงานปาร์ตี้ ก็มีโอกาสสัมผัสคนค่อนข้างเยอะ ก็อยู่ที่ภาวะแวดล้อมด้วย ต้องมีภาวะต่างๆ ประกอบด้วย เมืองนอกเลยหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าซูเปอร์สเปรดเดอร์ เท่ากับไปบอกว่าความผิดอยู่ที่คนๆ นั้น ก็จะทำให้เกิดปัญหาว่าต่อไปใครติดก็ไม่อยากเปิดเผยข้อมูล จะทำให้การสืบค้นทำได้ยาก เพราะขาดข้อมูลที่ครบถ้วน”

กับการที่สังคมเรียกดีเจมะตูมเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ก็ยังไม่เข้าข่าย?
ดร.นรินทร์ : “ส่วนตัวผม ผมคิดว่ามีพฤติกรรม หรือกิจกรรมอะไรบางอย่าง ที่เอื้ออำนวยให้คนมาอยู่ใกล้ๆ ถ้าจะใช้ อยากให้ใช้คำว่าซูเปอร์สเปรดดิ้งมากกว่า ที่จะใช้คำว่าซูเปอร์สเปรดเดอร์”

มีผู้ใหญ่ท่านนึงบอกให้คุณมะตูมไปตรวจ?
เต๋า : “ก็ตามแหล่งข่าวบอกมาว่ามีน้องคนนึงไม่สบาย เขาไปตรวจก่อนหน้านี้ เขาเป็นโควิด-19 แล้วเขาแนะนำว่าให้ไปตรวจก่อนมั้ย อาจจะติดหรือไม่ติดก็ได้ ผู้ใหญ่ท่านนี้ก็พยายามบอกหลายครั้ง ไม่แน่ใจว่าบอกแบบไหน แต่สุดท้ายก็ไม่มีการตรวจใดๆ ทั้งสิ้น ช่วงที่ผ่านมาตอนโน้น อาจจะติดหรือไม่ติดก็ได้ แต่หลายคนสงสัยกันแล้ว ว่าทำไมไม่ไปตรวจ”

แล้วที่มีการวิจารณ์ว่าศบค. ปฏิบัติสองมาตรฐานกับดารากลายเป็นเห็นใจและชื่นชม คุณหมอคิดว่ายังไง?
ดร.นรินทร์ : “หลักการทั่วไปคงปฏิบัติเหมือนกันทุกคน เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบของทุกคน หรือคนที่ติดต้องมีความรับผิดชอบส่วนตัว ต้องระมัดระวัง รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง ก็ต้องไปตรวจให้เร็วขึ้น หรือตราบใดไม่ไปตรวจก็ต้องระมัดระวัง ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น เป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ว่าจะอาชีพใดก็แล้วแต่ ผมว่าต้องปฏิบัติเหมือนกัน ไม่งั้นเราก็ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทยได้”

ถ้าเราไม่เปิดเผยไทม์ไลน์ทั้งหมด มีความผิดมั้ย?
ดร.นรินทร์ : “ผมคิดว่ามีสองประเด็น ประเด็นแรกคือความรับผิดชอบต่อสังคม ท่านต้องรู้ว่าถ้าท่านปกปิดไป จะทำให้การสืบค้นไม่สมบูรณ์ เป็นความรับผิดชอบของท่าน สองโรคโควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามประกาศพ.ร.บ.โรคติดต่อเมื่อต้นปีที่แล้ว จริงๆ มาตรานั้นมีบ่งไว้เลยว่าถ้าเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคระบาดได้มีลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ท่านมาให้ข้อมูล ท่านก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ถ้าท่านไม่ปฏิบัติตามนั้น ถือว่าท่านฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ ก็ถือว่าเป็นความผิด”

การจัดงานวันเกิดแบบนี้จริงๆ ผิดมั้ย?
ดร.นรินทร์ : “ผมว่าขึ้นอยู่กับพื้นที่ คือพ.ร.บ.ใหญ่ อาจพูดกว้างๆ แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ด้วยว่ามีประกาศออกมายังไง ผมเข้าใจว่ากทม. เคยประกาศไปแล้วว่าต้องหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมของคนหมู่มาก ถ้าไปจัดก็เท่ากับฝ่าฝืนการประกาศของกรุงเทพฯ”

แต่เขาไม่ได้จัดงานใหญ่ แค่ทานข้าว 10 กว่าคน ถือว่าผิดมั้ย?
ดร.นรินทร์ : “นิยามค่อนข้างยาก เพราะมันไม่ได้พูดชัดเจน แต่อย่างที่บอกเป็นความรับผิดชอบของตัวเรา ถ้าเรารู้ว่าเราไปทำอะไรบางอย่าง แล้วมีความเสี่ยง ถ้าไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย ดีสแทนซิ่ง มีการร้องรำทำเพลง ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงแพร่เชื้อได้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักเหมือนกัน”

การที่มีจำนวน 24 คน ที่ติดเชื้อโควิดจากไทม์ไลน์ต่างๆ มันจะแพร่ไปได้อีกเท่าไหร่?
ดร.นรินทร์ : “ถ้าไทม์ไลน์หรือข้อมูลให้ไม่ครบถ้วนก็อาจมีโอกาสที่ทีมสอบสวนอาจมิสหลายเคสไว้ อาจทำให้สาธารณะไม่ทราบ คนเข้าไปใกล้อาจมีความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว ความสมบูรณ์ของข้อมูลจึงมีความจำเป็นที่จะทำให้เราสืบค้น และควบคุมการระบาดต่อไป”

ตัวเชื้อโควิด-19 สมมติเราเป็น แต่ไม่ได้มีอาการ แต่เราไม่ได้ไปตรวจ มันจะอยู่ในร่างกายเรานานเท่าไหร่?
ดร.นรินทร์ : “โดยเฉลี่ยเชื้อโควิดจะอยู่ในร่างกายมนุษย์ 14 วัน แต่นั่นคือเฉลี่ย มีรายงานเหมือนกันจากจีนหรือสิงคโปร์ ที่บางราย 21-28 วัน นั่นแปลว่าถ้าจะให้ปลอดภัย ต้องเกือบ 4 สัปดาห์ถึงจะปลอดภัย และอยากแก้ความเข้าใจตรงนี้นิดนึง คนไข้โควิดถึงไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้ แน่นอนมันแพร่เชื้่อได้น้อยกว่าคนมีอาการ แต่ท่านมีเชื้ออยู่และไม่มีอาการ แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าท่านไม่แพร่เชื้อ ท่านต้องระมัดระวังในเรื่องพฤติกรรม อนามัยของท่านอยู่ดี ทั้งเรื่องใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ชุมนุมที่คนเยอะๆ หรือโซเชียล ดีสแทนซิ่งพวกนี้ก็ต้องปฏิบัติตามอยู่ค่อนข้างเคร่งครัด”

ช่วงแพร่ มีช่วงวันมั้ยว่าวันไหนที่อันตรายที่สุด?
ดร.นรินทร์ : “14 วันแรกจะสูงที่สุด ยิ่งถ้ามีอาการ จะพบว่า 3-5 วันก่อนมีอาการติดเชื้อค่อนข้างเยอะ จนกระทั่งอาการท่านดีขึ้น ถึงผ่อนเรื่องการแพร่เชื้อลง”

ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ที่ไม่สามารถบอกใครได้จริงๆ?
ดร.นรินทร์ : “ผมคิดว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวต่อสังคม เพราะมีผลต่อการควบคุมโรค พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อบอกไว้แล้วว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับ นั่นแปลว่าถึงกระทรวงสาธารณสุขรับทราบข้อมูล ก็นำไปเปิดเผยไม่ได้ เปิดเผยได้เฉพาะที่คิดว่ามีความจำเป็นต่อการควบคุมโรคเท่านั้น ดังนั้นเรื่องความลับค่อนข้างซีเรียส จะเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งช่วยบอกกันว่าไม่ควรปกปิดข้อมูล เพราะมีมาตรการบางอย่างช่วยดูแลความลับส่วนตัวของท่านอยู่แล้ว แต่ถ้าท่านปกปิด จะทำให้กระบวนการสอบสวนโรคไม่สมบูรณ์”

การตรวจโควิดที่สมุทรสาคร สองวันรวมกันได้ 2 พันกว่าคน?
ดร.นรินทร์ : “นี่เป็นการคัดกรองเชิงรุก เพราะสมุทรสาคร เป็นแรงงานต่างชาติค่อนข้างเยอะ ที่ถูกกฎหมายมี 3 แสนคน เราเชื่อว่าต้องมีสัดส่วนนึงที่ติดเชื้่อ ที่ผ่านมาสาธารณสุขอาจคัดกรองได้ไม่เต็มที่ ช่วงสองสามวันที่ผ่านมาเลยเพิ่มความสามารถเข้าไปคัดกรองเชิงรุก ตรวจยิ่งมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสสมุทรสาครปลดล็อกได้เร็วเท่านั้น เลยเป็นที่มาที่ตัวเลขดูขึ้นสูงมาก เนื่องจากเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกค่อนข้างมาก”

ถ้าตรวจได้ทุกคน คิดว่าตัวเลขจะขนาดไหน?
ดร.นรินทร์ : “คือที่ไปสุ่มคร่าวๆ ถ้าเราไปตรวจคัดกรองแรงงานต่างชาติที่สมุทรสาคร น่าจะมีโอกาสผลบวกอยู่ที่ 1 – 5 เปอร์เซ็นต์ ราวๆ นั้น”

มาพูดถึงงานวันเกิดที่เกิดขึ้น ที่คุณเต๋าบอกว่าวันที่ 8 ธ.ค. จนมาถึงวันที่คุณมะตูมจัดงานวันเกิดคือ 9 ม.ค. ความยาวคือเดือนนึงเต็มๆ สมมติถ้ามะตูมติดเชื้อ ช่วงวันที่ 8 ธ.ค. มันจะสามารถอยู่ยาวเป็นเดือนมั้ย?
ดร.นรินทร์ : “ด้วยหลักฐานข้อมูลทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ เราคิดว่าโอกาสค่อนข้างน้อย ระยะเวลาโดยเฉลี่ยอยู่ในร่างกายมนุษย์ 14 วัน หรือเต็มที่สัก 21-28 วัน กรณีนี้ถ้าจะเกิดการติดเชื้อและแพร่เชื้อในวันที่ 9 ม.ค. ต้องมีการรับเชื้อมาก่อนหน้านั้น แต่ก่อนหน้านั้นไม่น่านานถึง 1 เดือน อาจจะประมาณ 14-15-16 วัน อย่างนี้ยังมีโอกาสเป็นไปได้ ดังนั้นการบอกว่ามาจากไหน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของข้อมูลว่าไปไหนมาบ้าง หรือไปสัมผัสใครบ้าง ผมว่าข้อมูลตรงนั้นจะมีประโยชน์ทำให้เราหาต้นตอได้ค่อนข้างถูกต้องมากกว่า เพราะดูจากระยะเวลาด้วยหลักฐานทางการแพทย์มันดูนานไปหน่อย ในช่วงที่บอกผ่านมา 1 เดือน”

ถ้าร่างกายคนแข็งแรงมากๆ ถ้าติดก็จะไม่แสดงอาการ?
ดร.นรินทร์ : “ในประเทศไทยมีโอกาสที่คนติดโควิดไม่แสดงอาการ 60-80 เปอร์เซ็นต์ คือสัก 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แสดงอาการ บางทีอาการก็ไม่มากด้วย ทำให้แยกยากว่าโควิดหรือเปล่า ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับประวัติท่านด้วย ว่าไปพื้นที่ไหนมา หรือมีโอกาสใกล้ชิดกับใครมากๆ หรือเปล่า ถ้าท่านไม่มีอาการก็ต้องตรวจคัดกรอง เพราะมันไม่ได้ตัดทิ้งว่าท่านจะติดโควิดมาหรือเปล่า”

คนใกล้ชิดคนติดโควิดต้องแจ้งไทม์ไลน์ด้วย?
ดร. นรินทร : “ถูกต้องครับ ถ้าท่านมาท่านต้องตรวจคัดกรองและบอกไทม์ไลน์ด้วยว่าท่านไปสัมผัสใครที่ไหน แต่ไทม์ไลน์คนสัมผัสยังไม่สำคัญเท่าไทม์ไลน์คนติดเชื้อจริงๆ เพราะนั่นมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องไปตรวจหาว่าคนสัมผัสท่านถือว่ามีความเสี่ยงแล้ว จะมีโอกาสติดเชื้อหรือเปล่า”

คิดว่ามีคนในวงการปกปิดไทม์ไลน์อีกมั้ย?
เต๋า : “คิดว่ามี แต่ไม่กล้าบอก เพราะบางเรื่องไม่สามารถบอกได้”

ถ้าเต๋าจะกล้าบอกมั้ย?
เต๋า : “ถ้าเราใช้ชีวิตปกติเราก็บอกได้ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตแอดเวนเจอร์ เราก็คงไม่กล้าบอก บางคนเขาก็มีเรื่องราวในชีวิตที่ค่อนข้างเสี่ยงบ้าง น่ากลัวบ้าง หลายๆ เรื่อง เขาก็ไม่กล้าบอก เพราะเขาเป็นคนสาธารณะ และอย่าลืมว่าสมมติเรารู้อยู่แล้วว่าทำงานกลับบ้านก็บอกได้อยู่แล้ว แต่บางคนไม่ใช่ ไปโน่นนี่สารพัด ก็เลยไม่รู้จะบอกดีมั้ย หรือไม่บอกดีกว่า แต่ถามว่าคนในวงการจะติดอีกมั้ย โรคนี้ยังอยู่ค่ะ มีอีกแน่นอนค่ะ”

คนไม่กล้าบอก ด้วยกระแสดราม่า โซเชียลมั้ย ไม่รู้บอกไปจะโดนกระหน่ำต่อว่าหรือเปล่า?
เต๋า : “คนสาธารณะเวลาไปไหนคนจำได้ ว่าไปโผล่ที่นี่ๆ แต่เวลาดูข่าวทำไมไม่พูด เวลาออกข่าวไปบอกว่าโผล่อีกที่นึง คนเสพโซเชียลคือประชาชนที่เขาเห็น เวลาพูดในทีวีบอกไม่ตรงความเป็นจริง ก็เกิดความสงสัยของประชาชนว่าอ้าว ทำไมเป็นแบบนั้น ก็ฉันอยู่ในเหตุการณ์ แต่ทำไมเธอบอกไม่ตรงกัน”

ตอนนี้จัดงานเลี้ยงได้มั้ย?
ดร.นรินทร์ : “ตอนนี้กทม.ก็เริ่มให้มีการคลายล็อกบางส่วนแล้ว ยอมให้จัดกิจกรรมได้ แต่อย่าให้มีคนมาร่วมงานเยอะนัก ผมเข้าใจว่าตัวเลขของกทม. คือจัดงานอย่าให้เกิน 300 คน แต่ผมเข้าใจว่ากทม.ก็หวังว่าจะให้มีกิจกรรมอะไรบ้าง เพราะมนุษย์จะให้อยู่แต่ที่บ้านคงลำบาก ต้องมีปฏิสัมพันธ์อะไรบ้าง แต่มันก็มีความเสี่ยงเกิดขึ้น ต้องมีมาตรการในการป้องกัน”

ถ้าเป็นงานเลี้ยงทานอาหาร?
ดร.นรินทร์ : “การกินร่วมกันจะเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง ในการติดเชื้อของคนที่มาร่วมงานได้ การร้องเพลง ใกล้ชิดก็เป็นความเสี่ยง นอกจากนี้ถ้าเป็นที่ปิด การระบายอากาศไม่ดี ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง ทำให้คนมาร่วมงานติดเชื้อได้”

จะมีการจัดงานวันเกิดอีกมั้ย?
เต๋า : “ตอนนี้มันค่อนข้างแรง คิดว่าจะมีน้อยลงไปเยอะมาก คนไทยขี้กลัวและระมัดระวังตัวอยู่แล้ว โควิดมันไม่ได้กระทบแค่สุขภาพ มันกระทบเศรษฐกิจด้วย ทำให้หลายคนเวิร์กฟรอมโฮม ต้องปิดต้องล้างอะไรหมดเลย อย่างที่เราเห็นตามข่าว ถ้าถามว่าจะมีอีกมั้ย คงต้องคิดหลายตลบแล้ว เพราะโรคนี้มันยังอยู่ต่อไป”

ดร.นรินทร์ : “อยากฝากว่าบางคนคิดว่าติดมาแต่เราแข็งแรง เราไม่น่าเป็นอะไร แต่สิ่งที่อยากย้ำคือถึงท่านไม่มีอาการ ท่านแพร่เชื้อได้ ถ้าท่านกลับบ้านไปแพร่เชื้อผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว นี่จะเป็นปัญหาแล้ว เพราะถ้าติดท่านไปเขาจะมีอาการ และอาการรุนแรงด้วย ตรงนั้นเป็นความรับผิดชอบของท่านจริงๆ เพราะท่านไม่ได้ป้องกันและเอาเชื้อโรคมาแพร่ หรือท่านแพร่ให้สมาชิกในครอบครัว คนที่ท่านรัก คิดว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพื่อครอบครัวของท่านและสังคมด้วย”

การแพร่ระบาดครั้งที่สอง ติดง่ายกว่าครั้งแรก?
ดร.นรินทร์ : “เราอาจใจเย็นเกินไปเรื่องแรงงานต่างชาติ พอเห็นสถานการณ์ที่มีการติดเชื้อที่เชียงราย ที่เข้าออกบ่อยๆ ก็เป็นสัญญาณเตือนตั้งแต่แรกแล้ว ผมไม่ได้ตำหนิใครนะนี่คือความช้าเกินไปของเรา ที่ไม่รีบดำเนินการคัดกรองและป้องกันตั้งแต่ต้น ทำให้การระบาดครั้งนี้ดูรุนแรงกว่าครั้งที่แล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังมีการตอบสนองที่ค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้ไม่ลามไปถึงประชากรที่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงหลายกลุ่ม ก็ต้องชื่นชมสาธารณสุข การเดินทางเข้ามาของต่างชาติก็ต้องระวัง ไม่งั้นอาจมีการระบาดระลอก 3 เกิดขึ้นอีกก็ได้”

แบบนี้จะหมดไปจากเมืองไทยเมื่อไหร่?
ดร.นรินทร์ : “ผมว่ามันจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย เหมือนหลายๆ ประเทศ เหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าท่านคงคลายมาตรการป้องกันเรื่องสุขอนามัยไม่ได้หรอกครับ ถึงแม้จะมีวัคซีน แต่ท่านละเลยพฤติกรรมอนามัยไม่ได้ เพราะการฉีดวัคซีนไม่ได้การันตีว่าท่านจะไม่ติด แม้จะช่วยท่านก็จริง”

วัคซีนช่วยกี่เปอร์เซ็นต์?
ดร.นรินทร์ : “ถ้าเป็นวัคซีนจากจีนที่เข้ามาล็อตแรก 50-60 เปอร์เซ็นต์ หรือของแอสตร้าเซนเนก้าที่จะเข้ามาก็ 70 เปอร์เซ็นตื นั่นแปลว่ายังมีช่องว่างอยู่อีกประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ท่านต้องป้องกันตัวเอง และไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วมันจะขึ้นทันที ต้องฉีดสองเข็ม รอเวลาเข็มที่สอง 1-2 สัปดาห์ ไม่ใช่ว่าฉีดแล้วปลอดภัยแน่ ดังนั้นมาตรการพวกนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนต้องดำเนินการอยู่ มันละเลยไม่ได้ ไม่งั้นอาจมีการติดเชื้อระลอกใหม่เกิดขึ้นได้”

มีอะไรอยากฝากถึงคนในวงการ?
เต๋า : “ก็ต้องระมัดระวังนะ เพราะเราเล่นละคร ก็คงต้องใกล้ชิดกัน งานข่าว งานอะไรก็ต้องไปเจอ สัมภาษณ์คนเยอะแยะมากมาย แต่นักข่าวป้องกันเยอะมาก เท่าที่เห็นมา ดาราหลังๆ ก็เริ่มตรวจแล้วนะ ใครเข้ากอง แต่คุยรอบนอกกับคุณหมอ บางทีไม่ได้ช่วยอะไรมากมายใช่มั้ยคะ”

ดร.นรินทร์ : “สิ่งที่อยากฝากคือการเผยข้อมูลเป็นความสำคัญจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการสืบสวนสอบสวน ถ้าท่านปกปิดบางอย่าง บางทีแพทย์ก็หลงทางเหมือนกัน ถ้าแพทย์หลงทางพอมารู้ทีหลัง มันก็กระจายไปทั่วเหมือนกัน ซึ่งมันก็จะกลายเป็นปัญหา ผมคิดว่าการเปิดเผยข้อมูลสำคัญ และการันตีว่าความลับท่านจะได้รับการดูแลในส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ไม่ใช่ว่าท่านจะถูกนำไปประกาศหมด รัฐบาลก็มีมาตรการในการดูแลความลับส่วนตัวของท่านอยู่แล้ว แต่เป็นความสำคัญในแง่ที่ท่านต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน”

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube