fbpx
Home
|
ภูมิภาค

โคราชPM 2.5 พุ่งสูงขึ้นอีกเกินมาตรฐานกระทบต่อสุขภาพ

Featured Image
โคราช ฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงขึ้นอีก เกินมาตรฐาน กระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ 6 องค์กรทางการแพทย์ออกประกาศเตือน ปชช.ปรับตัวให้เหมาะสมช่วงเกิดวิกฤติฝุ่น PM 2.5

 

 

 

แอปพลิเคชัน Air4Thai รายงานดัชนีคุณภาพอากาศว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมาจ.นครราชสีมา ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI วัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศโดยรอบและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง พบว่าสูงขึ้น โดยวัดค่า AQI ได้ 126 ขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก็สูงขึ้น จากเมื่อวานวัดค่าได้ 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้ตรวจวัดได้ 61 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน อยู่ในเกณฑ์สีส้ม

 

 

เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ต้องระวังสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันคนหากมีความจำเป็น และถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่ปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากมีค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว

 

 

ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ได้เร่งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนให้งดเว้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ไม่เผาขยะในที่โล่งแจ้ง , ตรวจเช็กเครื่องยนต์ยานพาหนะที่ขับขี่ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เพื่อไม่ก่อให้เกิดควันพิษในอากาศ ซึ่งทางจังหวัดฯ ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กำกับดูแลป้องกันและควบคุมทุกๆ ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดฝุ่นควันและก่อมลพิษทางอากาศ ทั้งการลักลอบเผาซากพืชผลทางการเกษตร , ควันพิษจากการคมนาคมขนส่ง , ฝุ่นจากการโครงการก่อสร้างต่างๆ , การเผาขยะ , อัคคีไฟ – ไฟป่า , การปล่อยฝุ่นควันของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

โดยล่าสุด ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศไทยในประบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมพิษวิทยาคลินิก ได้ออกประกาศลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 เรื่องการปฏิบัติตัวของประชาชนช่วงวิกฤติฝุ่น PM2.5 เนื่องจากฝุ่น PM2.5 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดโรคระบบต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อกลุ่มเสี่ยง เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง

 

 

จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ โดยวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสมและหลีกเลี่ยงการสูดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งถ้าค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน ควรลด งด หรือปรับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใส่หน้ากากตลอดเวลา นอกจากนี้ ให้งด หรือลดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอเพราะจะช่วยเร่งขับฝุ่นที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้เร็วขึ้น และควรอยู่ในพื้นที่ที่มีต้นไม้ใบเขียวเพราะจะช่วยดูดซับฝุ่นในอากาศได้มากขึ้น ส่วนในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายอาการ-ฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube