fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

สงกรานต์เหงาเชื่อมั่นทรุด!

 

ปัจจัยลบซ้ำซ้อนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคมปรับตัวลดลงหนักสุดในรอบ 6 เดือน และยังเป็นการทรุดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 42.0 ห่างไกลจากคำว่าฟื้นตัวมากนัก

 

โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ บอกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมีนาคมที่ปรับตัวลดลงนั้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

 

นอกจากนี้ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลง โดยดัชนีที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคมองสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย กับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบมากขึ้น ซึ่งมีผลกับกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต

 

แน่นอนว่ากำลังซื้อภายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว สงกรานต์ปีนี้เหงาแน่ เพราะผลสำรวจ ล่าสุด ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่า เม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ปีนี้ลดลง ร้อยละ 5.4 หรือ คิดเป็นมูลค่าเพียง 1แสน 6พันล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากการลดรายจ่ายของประชาชน เพราะค่าครองชีพและค่าบริการต่างๆ มีราคาสูง ทำให้ต้องมีการประหยัดค่าใช้จ่ายและส่วนหนึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้น การวางแผนทำกิจกรรมท่องเที่ยวในปีนี้จึงน้อยลง เพราะการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะต้องถูกจำกัดในการทำกิจกรรมหรือไม่ จึงเลือกที่จะไม่ออกนอกพื้นที่ รวมถึงราคาน้ำมันแพงทำให้งดการเดินทาง แน่นอนว่ากิจกรรมต่างๆ หายไป เม็ดเงินท่องเที่ยวลดลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจช้าลงตามไปด้วย

 

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความหวัง เพราะเชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม เนื่องจากมาตรการลดผลกระทบของค่าครองชีพจากรัฐบาล เชื่อว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเกษตร การนำเข้าปุ๋ยเคมี และการพิจารณามาตรการคนละครึ่งในเฟสต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของภาคประชาชน ทำให้ยังมั่นใจได้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.5 หรือ อยู่ในกรอบร้อยละ 2.5-4.0 ได้

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube