Home
|
ข่าว

“SUPERโพล”เชื่อหลังสงกรานต์การเมืองเปลี่ยน มีปรับครม.-ยุบสภา

Featured Image
“SUPERโพล” เชื่อหลังสงกรานต์เกิดเปลี่ยนแปลงการเมือง มีปรับครม.นำไปสู่ยุบสภา เหตุพรรคร่วมขัดแย้ง-คนใกล้ตัวยุยง

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังสงกรานต์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,102 ราย โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน 2568 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (เกือบสามในสี่ หรือ ร้อยละ 74.2)

 

มีแนวโน้มคาดหวัง หรืออย่างน้อย “เชื่อว่า” จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงหลังสงกรานต์ ซึ่งสะท้อนภาวะความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลปัจจุบัน และมีเพียง ร้อยละ 25.8 ที่เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึก “ไม่แน่นอน” ที่ปกคลุมบรรยากาศทางการเมือง

 

ส่วนสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 36.9 ระบุ ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นสาเหตุสำคัญที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง รองลงมา ร้อยละ 30.6% ระบุ การยุยงปลุกปั่นจากกลุ่มคนใกล้ตัวผู้มีอำนาจ ร้อยละ 27.8 ระบุ การปั่นกระแสในสื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ ร้อยละ20.5 ระบุ ปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบต่อประชาชน และร้อยละ14.9 ระบุ ความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น กาสิโน ความเหลื่อมล้ำ และการเลือกปฏิบัติ

 

เมื่อสอบถามถึงตัวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.4 ระบุ การปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 37.6 ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลแตกร้าว ร้อยละ 32.1 เชื่อว่าจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบใหม่ และ ร้อยละ 27.5 คาดว่า จะมีการยุบสภา ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จะพัฒนาไปสู่ “การเปลี่ยนโครงสร้างระดับชาติ” หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับแรงกดดันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจทางการเมือง ที่แฝงอยู่ในสังคมไทย ประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนะว่ารัฐบาลอาจเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากภายในพรรคร่วมและจากแรงขับเคลื่อนของประชาชนในระดับฐานราก ความขัดแย้ง การสื่อสารในโลกออนไลน์ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้ผสานกันเป็นพลังทางสังคมที่อาจเร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ได้

 

ทางออก คือ เร่งเสริมเอกภาพและความร่วมมือในพรรคร่วมรัฐบาล โดยยกกรณีประเทศเยอรมันและประเทศญี่ปุ่น เป็นแนวทางโดยประเทศเยอรมัน จะมีข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก่อนการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เอกสารนี้มีสถานะเสมือน “คู่มือ” ที่ชัดเจนในทุกด้าน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น จะมีการประชุมหารือร่วมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีคณะทำงานเจาะจงด้านนโยบาย นอกจากนี้ ยังตกลงแบ่งงานในคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ตามจุดแข็งของแต่ละพรรค

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube