เสวนาทร.เลี่ยงแจงMOU44 เจรจาเขตแดน-ผลประโยชน์
วงเสวนา ทร.เลี่ยงแจง MOU 44 เจรจาเขตแดน-ผลประโยชน์ทางทะเล ย้ำเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล
กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดบรรยายพิเศษ เรื่องหลักกฏหมายว่า ด้วยอาณาเขตทางทะเล ที่สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จังหวัดนครปฐม โดยนาวาเอกเกียรติยุทธ เทียนสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรมยุทธการทหารเรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ทางทะเล ชี้ว่า การแบ่งเขตทางทะเล เป็นเรื่องยุ่งยาก แม้จะตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม แต่อาจจะไม่ได้จบด้วยความพอใจเพราะด้วยธรรมชาติของทะเลกำหนดอาณาเขตได้ยาก และแต่ละประเทศมีความต้องการใช้ทะเลแตกต่างกันไป รวมถึงแรงขับเคลื่อนในการออกไปแสวงหาทรัพยากรทางทะเลก็มีความแตกต่างกันไปด้วย
ส่วนกองทัพเรือ เข้าไปมีบทบาท ทั้งด้านการทหาร การทูต และการรักษากฎหมายทางทะเล ดูแลเส้นทางเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยหลีกเลี่ยงการปะทะ และการยั่วยุ เพื่อไม่ให้เป็นภัยคุกคามแต่จะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน เพื่อแสวงหาทางออก
ซึ่งความท้าทายต่อการปฏิบัติของกองทัพเรือ ขึ้นอยู่กับการรักษาความสมดุลระหว่างประชาชนนโยบายรัฐ และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยอยากให้ประชาชนในชาติรู้ว่าองค์ความรู้เรื่องเขตแดนทางทะเลมีควมสลับซับซ้อน
จึงต้องรับข้อมูลหลายทางมาถกเถียงและหาข้อสรุป เมื่อ ประชาชน-รัฐบาล สามารถสร้างความเข้าใจกันได้ กองทัพก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักการสรัางสมดุลย์ เพื่อให้ทุกส่วนเดินไปด้วยกันได้ แม้อาจจะไม่ทันใจไปบ้าง
ด้านนาวาเอกหญิงมธุศร เลิศพานิช รองผู้อำนวยการกองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางทะเล ย้ำถึงหลักการกำหนดอาณาเขตทางทะเลว่าอยู่ภายใตัอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล โดยปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล หรือ UNCLOS 1982 ซึ่งมีเป็นหลักกฎหมายสำคัญ และครอบคลุมไปถึงการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งตามหลักการกำหนดไว้ด้วยว่า การใช้กำลังเป็นเรื่องต้องห้าม นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเรื่องเขตแดนทางทะเลอย่างละเอียด โดยให้สิทธิรัฐชายฝั่งกำหนดอาณาเขต คือ เขจน่านน้ำภายใน, ทะเลอาณาเขต
12 ไมล์ทางทะเลจากเส้นฐาน หรือ แนวน้ำลงต่ำสุด โดยรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยทุกเรื่อง 100% แต่ก็ให้สิทธิเรือชาติอื่นผ่านโดยสุจริต
หลังจากนั้นจะเป็นเขตต่อเนื่องทางทะเล 24 ไมล์ทะเล, เขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ EEZ และเขตไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล ต่อจากนั้นจะเป็นทะเลหลวง แต่การกำหนดอาณาเขตทางทะเลเหล่านี้มักจะมีปัญหาที่ตามมาคือรัฐชายฝั่งประกาศอาณาเขตที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ซึ่งตามอนุสัญญาฯ กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์สันติวิธี คือเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้ก็ต้องใช้บุคคลที่สามเป็นตัวกลาง เช่น ศาลโลก, อนุญาโตตุลาการ แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นกับรัฐที่เกิดข้อพิพาท และหาทางออกร่วมกัน
ทั้งนี้ อนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แต่ในอนาคตน่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการเทคนิค ตามยุคสมัย บนหลักการความเที่ยงธรรม และกรณีประเทศที่ไม่อยู่ในภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 เช่น กัมพูชา ก็มีหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
“ใครจะเป็นภาคีอนุสัญญากฎหมายทะเลหรือไม่ก็ตาม ทุกประเทศยังคงมีแนวทาง หรือมีหลักเกณฑ์ ข้อผูกพันพันธกรณีด้วยเช่นกัน เพราะบางส่วนของอนุสัญญา 1982 ถูกรวบรวมจากหลายจารีตประเพณี”
ขณะที่นาวาเอก รชต โอศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทางทะเล ได้เปิดภาพแผนที่ประเทศไทยฉบับสมบูรณ์ที่แสดงถึงอำนาจทางอธิปไตยของไทย พร้อมย้ำถึงอำนาจหน้าที่ของกองทัพเรือในการดูแลผลประโยชน์ทางทะเลฝั่งอ่าวไทยอันดามัน
ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมายทางทะเลจะยึดเส้นฐาน หรือ แนวน้ำลงต่ำสุด เป็นจุดเริ่มต้นกำหนดอาณาเขตทางทะเล โดยกรณีพิพาททางทะเลคลาสสิกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ มาจากการอ้างสิทธิทับซ้อนไหล่ทวีป รวมทั้งไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยกฎหมายระหว่างประเทศจะเปิดทางให้ใช้หลักความเที่ยงธรรม ซึ่งหลักสากลไม่มีรูปแบบตายตัว ส่วนกรณีไทยที่มีปัญหาเขตทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่เกิดจากการอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อน เช่น มาเลเซีย , เวียดนาม ต้องใช้เวลาตกลงผลประโยชน์ งานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จ โดยอ้างอิงตามหลักการสากล
ทั้งนี้ ความท้าทายต่อการปฏิบัติของกองทัพเรือขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของประชาชน ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะกรรมการชายแดนทางบกทางทะเลโดยคณะกรรมการดังกล่าวมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว มีผู้ดำเนินการโดยตรงและกองทัพเรือมีหน้าที่สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญต่างๆ
ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทางทะเล ชี้ถึงหลักเกณฑ์ กำลังถึงทางทะเล ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากในการหาข้อตกลง หากเกิดปัญหาพิพาท เพราะพื้นที่ทางทะมีเกาะแก่ง ชายฝั่งสลับซับซ้อน พร้อมชี้ว่า มีหลายประเทศที่เกิดปัญหาพิพาท และใช้ศาลโลก และศาลทะเล เป็นทางออก เช่น รัสเซีย-โรมาเนีย และ เมียนมา -บังคลาเทศ โดยต่อสู้กันด้วยข้อมูลหลักฐาน ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่ยึดความเที่ยงธรรม
ส่วนกรณี MOU 44 ที่ใช้แก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนทางทะเลกับกัมพูชา ด้านเกาะกูดจังหวัดตราด มองว่า ผ่านมาเกือบ 20 ปีสภาพแวดล้อมในการตัดสินใจหาข้อยุติอาจจะแตกต่างกันออกไปสภาวะแวดล้อมต่างๆเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และในอีก 10-20 ปีข้างหน้าสภาพแวดล้อมก็ต้องเปลี่ยนไปปัจจัยในการพิจารณาก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลาแต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่บนหลักการที่ว่า ทำความเที่ยงธรรมให้เป็นความยุติธรรม
สำหรับกิจกรรมการบรรยายพิเศษครั้งนี้มีกำลังพลที่เรียนหลักสูตรต่างๆ เข้าร่วมรับฟัง รวมทั้งประชาชนและสื่อมวลชน ตามนโยบายของพลเรือเอกจิรพล ว่องวิทย์ผู้บัญชาการทหารเรือเพื่อเปิดเวที สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล ความเป็นมาของการประกาศเขตแดนทางทะเลของประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน
บทบาทกองทัพเรือสากล รวมถึงอนาคตและความท้าทายที่กองทัพเรือต้องเผชิญ ทั้งอนาคตของกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ความสำคัญของกรมอุทกศาสตร์ในฐานะเจ้าหน้าที่เทคนิคในการกำหนดเขตทางทะเลของประเทศไทย และความท้าทายต่อการปฏิบัติการของกองทัพเรือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภายใต้หลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews