fbpx
Home
|
อาชญากรรม

รวบเครือข่ายค้ามนุษย์เรือประมง 7 ราย

Featured Image
กองปราบ-ปคม.แถลงจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์เรือประมง รวบนายหน้า-ไต๋ก๋งเรือ 7 ราย

 

 

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการปราบปรามเครือข่ายค้ามนุษย์ในเรือประมง ภายใต้ยุทธการ เรือมนุษย์ รวมจำนวน 6 จุด ในจังหวัดนนทบุรีและระยอง โดยเป็นการขยายผลมาจากการกลุ่มแรงงานประมงไทยที่ถูกจับกุมในประเทศมาเลเซีย และถูกผลักดันกลับประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายนปี 2564

 

ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าในจำนวนนี้เป็นผู้เสียหายถูกล่อลวงไปบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงผิดกฎหมาย และจากการสืบสวนยังพบว่า ขบวนการค้ามนุษย์มีทั้งหมด 10 คน จับกุมตัวได้ 7 คน แบ่งเป็นกลุ่มนายหน้าจัดหา 5 คน, เจ้าของเรือ 1 คน และไต้ก๋งเรือ 1 คน

 

ด้าน พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ปคม.กล่าวว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ใช้แรงงานจากต่างจังหวัดเพื่อมาหางานทำตามสถานีขนส่งหมอชิต และหัวลำโพง ก่อนถูกนายหน้าเข้าไปตีสนิทชักชวนให้ไปทำงานบนเรือประมง พร้อมหลอกว่าจะได้ค่าตอบแทนรายได้สูง แต่เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจะถูกนำตัวไปกักขังไว้ในบ้านย่านนนทบุรี ก่อนใช้ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และข้าวปลาอาหารให้ผู้เสียหายกินจนติด

 

จึงนำผู้เสียหายมาทำงานกับเรือประมงผิดกฎหมายไม่ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตอย่างถูกต้อง โดยลักลอบออกไปทำประมงในน่านน้ำมาเลเซีย และใช้งานผู้เสียหายแทบไม่มีเวลาหยุดพัก ซึ่งถูกบังคับใช้งานนานสุด 26 เดือน ในขณะที่ผลตอบแทนจะได้เงินเพียง 100 ริงกิต หรือ 1,000 บาทสำหรับซื้อของใช้จำเป็นเท่านั้น

 

เมื่อผู้เสียหายปฏิเสธไม่ทำงานจะถูกทำร้ายร่างกายด้วยการทุบตีจนทำให้ผู้เสียหายเครียดกดดัน บางคนคิดจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย จากการตรวจสอบพบว่าไต้ก๋งเรือเคยถูกจับคดีค้ามนุษย์มาแล้ว แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องส่วนนายหน้าก็เคยถูกจับกุมคดีค้ามนุษย์เมื่อปี 2561 ก่อนพ้นโทษและมากระทำผิดซ้ำอีก

 

ทั้งนี้ ยืนยันขบวนการค้ามนุษย์ในเรือประมงกลุ่มนี้ ยังไม่พบชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ที่สามารถไปลักลอบอยู่ในน่านน้ำมาเลเซียได้นานเกือบ 3 ปี อาจเพราะมีการสำแดงเท็จว่าเป็นเรือมาเลเซียโดยการชักธงมาเลเซียขึ้นสู่ยอดเสาเรือ หรืออาจไปจดทะเบียนถูกต้องในฝั่งมาเลเซียก็เป็นได้ อยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม

 

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ ระบุว่า สำหรับเรือประมงลำที่ใช้บังคับค้าแรงงาน เดินทางออกจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 ก่อน พรบ.การเดินเรือประมงจะบังคับใช้ และที่สำคัญไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการเรือประมงแต่อย่างใด จึงไม่ได้ทำการติด VMS หรือระบบติดตามเรือประมง ทำให้ไม่สามารถรู้ความเคลื่อนไหว กระทบถึงแรงงานบนเรือไม่ถูกขึ้นทะเบียนด้วย แต่ยืนยันว่าทั้งทางการไทยและมาเลเชียมีความเข้มงวดในการจับกุม

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube