fbpx
Home
|
ภูมิภาค

ฉีดซิโนแวคสลับแอสตราฯสร้างภูมิเร็วกว่า1เท่า

Featured Image
หมอยง ชี้ ฉีดวัคซีนซิโนแวคสลับแอสตราฯ สร้างภูมิเร็วกว่า 1 เท่า

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยระหว่างแถลงเรื่องการให้วัคซีนโควิด-19 สลับชนิดกัน ว่า จะหยุดวิกฤตโควิด-19 ด้วยวัคซีน หากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนจะลดอัตราการป่วย ลดอัตราการเสียชีวิต แน่นนอนว่าเป็นสิ่งที่ต้องการ และหากว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยจะดียิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยในขณะนี้ยังฉีดวัคซีนได้ไม่ถึง 13 ล้านโดส ถือได้ว่ายังไปไม่ถึงเป้าหมายเนื่องจากวัคซีนมีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้การศึกษาวิจัยรูปแบบวัคซีนในประเทศไทย มีความจำเป็น

ศ.นพ.ยง ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ของไวรัสมีการกลายพันธุ์ และไวรัสพยายามหนีออกจากระบบของภูมิต้านทาน ซึ่งถ้าใช้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงไม่พอกับการต้านไวรัสที่กลายพันธุ์จนถึงสายพันธุ์เดลตา ขณะเดียวกันวัคซีนแอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) 1 เข็ม ก็ไม่เพียงพอเช่นกัน หากรอครบ 2 เข็มก็คงจะช้าเกินไป จึงเป็นที่มาของการหาจุดสมดุล ว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเร็วที่สุด และได้ทำการศึกษาการฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อนฉีดไวรัสเว็คเตอร์ (Virus Vector)

“การฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน เปรียบเสมือนกับว่าทำให้ร่างกายเราคล้ายๆกับการติดเชื้อ แล้วไปสอนนักรบหรือหน่วยความจำของร่างกายเอาไว้ แล้วหลักจากนั้นค่อยไปกระตุ้นด้วยไวรัสเว็คเตอร์ที่มีอำนาจในการกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง ยังกล่าวว่า ผลของการศึกษาปรากฏว่ากระตุ้นได้สูงกว่าที่คาดคิดไว้ ถึงแม้ว่าจะไม่เท่าการฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 เข็มก็ตาม แต่ก็ได้ภูมิต้านทานที่สูงภายใน 6 สัปดาห์แทนที่ต้องรอไปถึง 12 สัปดาห์ซึ่งใช้เวลานานกว่าถึง 1 เท่าตัว

สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงและรวดเร็ว ไม่สามารถรอการสร้างภูมิคุ้มกันถึง 12 สัปดาห์ได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนสลับชนิดน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดในขณะนี้ ประกอบด้วยกับประเทศไทยมีวัคซีนเพียงแค่วัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ ซิโนแวค และที่เข้ามาบ้างแล้วคือซิโนฟาร์ม กับวัคซีนไวรัสเว็คเตอร์ ได้แก่ วัคซีนแอสตราเซนเนกา จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ล่าสุด ซึ่งจากการทดลองฉีดสลับชนิดพบว่าฉีดไปแล้วกว่า 1,200 คน จากการติดตามผลข้างเคียงพบว่าไม่มีและปลอดภัยทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีวัคซีนอื่นที่ดีกว่า หรือพัฒนาได้ดีกว่า สลับเข็มได้ดีกว่า ค่อยหาวิธีการที่ดีกว่า หรือหากว่าหากไวรัสกลายพันธุ์ไปมากกว่านี้อาจจำเป็นต้องมีวัคซีนที่จำเพาะเจาะจง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องมีการฉีดในทุกๆปี

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube