ผู้การฯ ขอนแก่นยินดีปปช.ตรวจสอบโรงพักพังหาคนผิด
ผู้การฯขอนแก่น ยินดีให้ ปปช.ตรวจสอบโรงพักพังทั้งอาคาร หาคนรับผิดชอบ พบ เป็น 1 ใน 396 โครงการก่อสร้างโรงพัก (ทดแทน)
นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงาน ปปช. รักษาการ ผอ.ปปช.ขอนแก่น เปิดเผยว่า อาคารที่ทำดารของ สภ.อุบลรัตน์ เป็น 1 ใน 396 แห่ง ของโรงพักในโครงการก่อสร้างโรงพัก (ทดแทน) ซึ่งขณะนี้พบว่าเกิดการพัง ไม่สามารถใช้การได้ เพราะหลังเกิดการแตกร้าว และผุพังของปูน เจ้าหน้าที่ได้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จนกระทั่งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มาทำการตรวจสอบ พบในประเด็นแรกที่ชัดเจนมากคือขนาดปูนที่ไม่ตรงกับที่เขียนไว้ในแบบก่อสร้าง โดยเฉพาะแรงอัดคอนกรีตที่กำหนดสเปคปูนไว้ที่ 240 กก. ต่อ ตร.ซม. แต่จากการตรวจสอบของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยพบว่าปูนที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคาร สภ.อุบลรัตน์ มีแรงอัดคอนกรีตอยู่ที่ 100 กก.ต่อ ตร.ซม.เท่านั้น
นอกจากนี้ยังตรวจพบความทึบของซีเมนต์ คือการป้องกันการรั่วซึมของน้ำ ตรวจพบว่า ไม่เป็นไปตามสเปคหรือมาตรฐานของการก่อสร้าง ส่งผลให้ชั้นดาดฟ้า ที่เป็นดาดฟ้าเปิดโล่ง เมื่อมีฝนตกลงมาน้ำฝนขัง ก็เกิดการซึมเข้าในเนื้อปูน เข้าไปยังเหล็กที่เป็นโครงสร้างทำให้เกิดสนิม ทำให้เกิดการหลุดร่วง แตกร้าว
โดยเฉพาะที่ชั้น 4 ที่เป็นดาดฟ้าเปิดโล่ง และที่ชั้น 2 ที่มีหลังคาเปลือยโล่งอีกชั้นการรั่วซึมของน้ำฝนที่สะสมมาเรื่อย ทำให้เหล็กโครงสร้างเป็นสนิม ผุพังลงมา เพราะสเปคปูนไม่ได้มาตรฐาน
“สิ่งที่น่าห่วงคือ ในอนาคต การผุพังของอาคารที่พังมาตั้งแต่ปี2559 จนถึงปัจจุบัน มองเห็นการพังของอาคารไล่มาตั้งแต่ปีสร้างเสร็จ คาดว่าพังมาอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ บางรอยร้าวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เฝ้าระวังการผุพังของอาคารได้ทำการตรวจสอบพบรอยร้าวใหม่เพิ่มขึ้น และในอนาคตอาจจะมีการพัง การร้าวเพิ่มขึ้นที่บริเวณชั้นที่ 1 หรือไม่ อย่าวไรก็ดีปปช.ขอนแก่น ตรวจพบตามที่วิศวกรรมสถานตรวจพบ ทั้งสเปคปูน และการตรวจรับมีปัญหา
จึงต้องตรวจสอบว่าวิศวกรคุมงานหรือช่างคุมงานนั้น เป็นไปตามวิชาชีพหรือวิศวกรรมกำหนดไว้หรือไม่ว่า มีคุณสมบัติถูกต้องหรือไม่ และการก่อสร้างอาคารที่ทำการสภ.อุบลรัตน์นั้น มี 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายผู้ว่าจ้าง ซึ่งก็คือตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น
ซึ่งจากการตรวจสอบตามเอกสารนั้น มีคณะกรรมการตรวจรับการจ้างแล้ว ยังมีโยธาธิการจังหวัดขอนแก่น เข้ามาดูแลด้วย แต่ในส่วนของการควบคุมงานนั้น ยังไม่เห็นว่าในส่วนของผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารนั้น ได้แต่งตั้งผู้ควบคุมงานตามวิชาชีพหรือไม่ เพราะจะส่งผลถึงการทำสัญญาว่าการทำสัญญาจ้างนั้น ถูกต้องหรือไม่”
นายธีรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ได้ประสานขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง อาคารที่ทำการสภ.อุบลรัตน์ จาก ภ.จว.ขก. ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง การประกาศจ้าง หาผู้รับจ้างมาก่อสร้าง แบบอาคาร และการกำหนดมาตรฐานต่างๆ รวมถึงต้องทราบตัวช่างหรือวิศวกรคุมงาน และคณะกรรมการที่ตรวจรับงาน เพื่อจะได้ทราบว่าทุกๆขั้นตอนนั้น ดำเนินการมาถูกต้องหรือไม่ ทั้งยังคงจะมีการตรวจสอบลึกลงไปว่าคณะกรรมการตรวจรับนั้น ทำกันโดยชอบหรือไม่
ผู้ควบคุมงาน ได้ทำการควบคุมจริงหรือไม่ เพราะเท่าที่รู้มา การบ่มปูนก็มีส่วนที่ทำให้ปูนมีความแข็งหรือแรงอัดของปูนก็มีส่วนทำให้อาคารแข็งแรงได้ด้วย
เพราะการก่อสร้างครั้งแรกนั้น มันจะมีการส่งมอบปูน 15X15 ซม. เพื่อไปทดสอบความแกร่งหรือแรงอัดของปูน ซึ่งตามสเปคที่เขียนไว้ 240 ส่งไป 240 แต่ตอนสร้าง สร้าง กลับสร้างไม่ตรง
เมื่อผ่านการก่อสร้างมาปาระมาณ 5 ปี ก็เกิดการผุพังแตกร้าว ซึ่งเกิดจากปูนไม่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามการสร้างอาคารที่ทำการ สภ.อุบลรัตน์แห่งนี้ มีการสร้างแล้วทิ้งงาน เมื่อให้สร้างใหม่ ผู้รับจ้างทำการสร้างต่อเลย หรือมีการทุบทิ้งโครงสร้างเดิมหรือไม่นั้น อย่างไรก็ดีต้องย้อนกลับไปดูในคดีที่ ปปช.เคยฟ้องผู้เกี่ยวข้องแล้วศาลยกฟ้อง ซึ่งการสร้าง อาคารที่ทำการสภ.อุบลรัตน์ ก็มีผลพวงมาจากโครงการดังกล่าว
เพราะตอนเริ่มแรกนั้น ใช้วิธีการก่อสร้างโดยใช้บริษัทเดียวก่อสร้างทั้งประเทศ พอมีการทิ้งงานเกิดขึ้น โรงพักได้รับผลกระทบหลายแห่งทั่วประเทศ ในปี 2556 มีการดำเนินการใหม่ ก่อสร้างใหม่ด้วยงบประมาณใหม่ ตรงนี้ถ้าจะถามว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวกันหรือไม่ ก็ต้องพิจารณากันเอาเอง การสร้าง สร้างไม่เสร็จ มีการทิ้งงาน เพราะเกิดปัญหา เบิกจ่ายเงินไม่ได้ ต่อมา สตช.หรือ ภ.จว.ขอนแก่น ทำการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสร้างรอบแรก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews