fbpx
Home
|
อาชญากรรม

“ชัชชาติ” มอบนโยบายสำนักการแพทย์

Featured Image
“ชัชชาติ” มอบนโยบายสำนักการแพทย์ นำปัญหาคนไข้เป็นโจทย์ ผนวกแก้ด้วยเทคโนโลยี “ทำน้อยให้ได้เยอะ” ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพที่ดีให้ประชาชน

 

 

วันนี้ (7 ก.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่ 18 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “Digital Transformation in Healthcare : ปฏิรูปบริการเพื่อสุขภาพดี ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” เพื่อให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้จัดทำผลงานทางด้านวิชาการทั้งในรูปแบบงานวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย ได้มีเวทีในการนำเสนอเผยแพร่ผลงานวิชาการ ผลงานการพัฒนาคุณภาพการบริการในด้านเวชศาสตร์เขตเมืองและด้านต่างๆ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค.65 ณ ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้บางครั้งมันไม่ตอบโจทย์ของคน บางเทคโนโลยีทำแล้วก็เก็บไว้บนหิ้งไม่ได้ใช้งาน เราอยากให้เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถตอบโจทย์คนได้จริง เนื่องจากแพทย์เป็นผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยจริงอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นคนที่อยู่ในปัญหา เพราะฉะนั้นขอให้เอาปัญหาของคนไข้เป็นโจทย์แล้วนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์ของคนไข้ โดยเทคโนโลยีไม่ต้องฉลาดมากแต่ขอให้ฉลาดกำลังเหมาะสามารถตอบโจทย์คนไข้ได้ ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จก็คือระบบ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เนื่องจากแต่ก่อนระบบราชการคือระบบท่อ (pipe Line) กว่าเรื่องร้องเรียนจะถึงผู้รับผิดชอบบางครั้งเป็นเดือน ซึ่งนั่นคือระบบสมัยเก่า

 

 

รวมถึงบางธุรกิจก็ยังเป็นระบบท่อเช่นกันเนื่องจากต้องรักษาความสัมพันธ์ของแต่ละขั้นตอนไว้ แต่ในปัจจุบันเราใช้ระบบแพลตฟอร์มคือใครต้องการสิ่งใดก็โยนความต้องการนั้นไว้ในกระดาน ส่วนผู้ให้บริการก็จะตอบสนองได้ทันที เมื่อทราบความต้องการจากกระดานนั้น เช่นธุรกิจแพลตฟอร์มการเรียกใช้บริการสั่งสินค้าหรือธุรกิจขนส่งต่าง ๆในปัจจุบัน นั่นคือการโยน ความต้องการ ( Demand) ลงไปในกระดานส่วนแล้วผู้ที่เป็นผูให้บริการ (Service) ก็จะแย่งกันมาทำงาน โดยไม่ต้องสั่งผ่านระบบท่อเหมือนแต่ก่อน บนกระดานจึงเกิดการแข่งขันกันในการให้บริการ และนั่นคือจุดประสงค์ของทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งในปัจจุบันแก้ปัญหาไปได้แล้ว 31,645 เรื่อง จากปัญหาประมาณ 70,000 เรื่อง

 

โดยที่ไม่ต้องสั่งการ เนื่องจากเกิดการร่วมมือร่วมใจกันทำงานผ่านแพลตฟอร์มซึ่งเป็นการทำลายระบบท่อ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นสำนักการแพทย์ก็นำเทคโนโลยีแบบนี้ในการให้บริการประชาชน ทำให้เกิดพลังในการแก้ปัญหาให้ประชาชน

 

 

” เพราะหมอและพยาบาลเป็นทรัพยากรที่มีค่า เราสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยการทำงานได้โดยไม่ต้องลงพื้นที่ สามารถประหยัดเวลาได้โดยใช้เทคโนโลยีช่วย เช่นระบบ TELEMEDICINE (เทเลเมด) โดยให้ผู้ที่ลงพื้นที่ส่งข้อมูลมาให้แพทย์ช่วยวิเคราะห์หรือเชื่อมโยงกับหมอที่โรงพยาบาลต่าง ๆ จะทำให้หมอทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เราต้องพัฒนา ซึ่งเทคโนโลยีก็มีหลากหลายรูปแบบที่จะเปลี่ยน Transformation ของสำนักการแพทย์ ให้เข้มแข็งขึ้น หลักง่ายๆ คือ ทำน้อยให้ได้เยอะ คือลงทุนน้อยให้ได้ผลเยอะและขยายผลได้ โดยต้องทำลายระบบราชการแบบเดิมซึ่งลงทุนเยอะแต่ได้ผลตอบแทนน้อย ถ้าสามารถเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความคิดโดยการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนการทำงานของกทม.ได้ นั่นเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากกทม.มีงบประมาณที่จำกัด กทม.จึงต้องทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อการให้บริการประขาชน” นายชัชชาติ กล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบดิจิทัล (คอมพิวเตอร์) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวงการแพทย์ในศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิง (Disruption in Healthcare) เช่น ผู้ป่วยสามารถหาหมอที่ไหนก็ได้ ผ่านระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) นาฬิกาอัจฉริยะจะที่ส่งสัญญาณชีพ อาการ อาการแสดงที่เป็นปัจจุบันไปยังศูนย์ข้อมูล ขณะที่เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Image processing) และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยวินิจฉัยโรคผ่านภาพการเคลื่อนไหวบนกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ทั่วไป เป็นต้น การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้และเกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพของประชาชน เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสำนักการแพทย์ในด้านความก้าวหน้าและการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube