fbpx
Home
|
ข่าว

ฝ่ายค้านเตรียมกระทู้ถามรัฐบาล หลังวานนี้สภาล่ม

Featured Image

 

 

 

ฝ่ายค้านเตรียมตั้งกระทู้ถามรัฐบาล เรื่องการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินของกระทรวงมหาดไทย หลังวานนี้ สภาล่ม ประเดิมเปิดสมัยประชุม เพราะ รัฐบาลจ้องปัดตก-ขวางส่งร่างข้อบังคับพรรคก้าวไกล

 

 

 

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 09.00 น. วันนี้ (14 ธ.ค.66) หลังการการปรึกษาหารือตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาขนแล้ว เป็นการพิจารณาวาระกระทู้ถาม ทั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาและกระทู้ถามทั่วไป ที่สมาชิกตั้งถามรัฐบาลหลายเรื้อง เช่น เรื่องการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินของกระทรวงมหาดไทยที่รัฐมนตรีประกาศล่าสุด , เรื่อง การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในวันสงกรานต์พระประแดง และเรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2566 จากนั้น ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบต่างๆ เช่น รับทราบเรื่อง วุฒิสภาได้พิจารณารับทราบร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2565-2567 , รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 และรับทราบนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

 

 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีวาระพิจารณาเรื่องที่ค้างพิจารณากว่า 31 เรื่อง เช่น ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาลเพื่อการแก้ไขปัญหาทางสังคม การลงทุน และการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง

 

 

 

 

 

ขณะเดียวกัน การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้เป็นวันแรก (13 ธันวาคม) หลังเปิดสมัยประชุมสภา สมัยสามัญที่ 2 ประจำปี 2566 ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ในช่วงเย็น เวลา 18.47 น. ได้สั่งปิดการปิดประชุม เนื่องจาก องค์ประชุมไม่ครบ ระหว่างการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก้าวหน้า ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ โดยมีหลักการใหม่ ๆ เช่น ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่กี่ยวข้องกับการเงิน โดย สส. หรือภาคประชาชน หากนายกรัฐมนตรี ไม่อนุมัติกลับมายังสภาฯ ให้ถือว่า นายกรัฐมนตรีอนุมัติ, การเพิ่มกระทู้ถามสด ระหว่างนายกรัฐมนตรี กับผู้นำฝ่ายค้านฯ

 

 

 

 

 

และ สส.คนอื่น ๆ ประมาณ 5 คน / สัปดาห์ หรือ PrimeMinister’sQuestion ตามแบบสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร รวมถึงการกำหนดให้ สส.ฝ่ายค้านจะต้องทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต, กรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการใช้งบประมาณ และกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

 

 

 

 

 

โดยในการอภิปรายของ สส.พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่นั้น ไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมตินั้น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติให้ชะลอการลงมติไว้ก่อน เพื่อส่งร่างข้อบังคับฉบับนี้ ให้คณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา หรือส่งร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฉบับพรรคร่วมรัฐบาล มาประกบฉบับของพรรคก้าวไกล แต่นายศรัณฑ์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ได้ยืนยันว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลได้มีมติแล้วว่า จะไม่ส่งไปให้คณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และขอให้มีการลงมติต่อเนื่องในทันที ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติว่าจะเห็นด้วยกับการส่งร่างข้อบังคับการประชุมฯ ฉบับพรรคก้าวไกล ไปให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาก่อนหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 223 เสียง ต่อ 151 เสียง ไม่ให้ส่งไปกรรมาธิการฯ พิจารณาก่อน ซึ่งผลคะแนนที่ปรากฏดังกล่าว สะท้อนว่า มี สส.พรรคร่วมรัฐบาล เข้าร่วมการประชุม 223 คน จากทั้งหมด 499 คน

 

 

 

 

จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้เข้าสู่ขั้นตอนการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ในวาระแรก โดยมีการตรวจสอบองค์ประชุม ซึ่งมี สส.แสดงตน 332 คน ก่อนจะมีมติเสียงข้างมาก 223 เสียง ต่อ 1 เสียง ไม่รับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมดังกล่าว จากจำนวนผู้ลงมติ 228 เสียง ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม

 

 

 

 

ทำให้เกิดการประท้วงกันในที่ประชุม โดยนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะวิปรัฐบาล ได้โต้แย้งว่า ประธานในที่ประชุม ได้ตรวจสอบองค์ประชุมแล้ว ซึ่งมีจำนวน สส.แสดงตนครบองค์ประชุม ดังนั้น ในการลงมติผู้ที่ไม่กดมติ จึงเท่ากับไม่มีเจตนาจะลงมติ ไม่ใช่องค์ประชุมให้ครบ จึงขอให้ประธานฯ วินิจฉัยให้ดี ก่อนที่นายณัฐพงษ์ จะลุกขึ้นโต้แย้ง นายภราดร เนื่องจาก ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ที่ในขั้นตอนการแสดงตนครบองค์ประชุม แต่ในการลงมติกลับไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งนายชวน ให้ถือว่า ไม่ครบองค์ประชุม และต้องปิดการประชุม

 

 

 

 

 

ขณะที่ นายวรวงศ์ วรปัญญา สส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้เรียกร้องให้นายปดิพัทธ์ วินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานในอนาคต เนื่องจาก ในอดีตตนไม่ขอวินิจฉัย แต่ในวันนี้ (13 ธ.ค.) นายปดิพัทธ์ ได้ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงขอให้มีการวินิจฉัยด้วย เช่นเดียวกับ นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ที่ขอให้นายปดิพัทธ์ ทบทวนการวินิจฉัย เพราะองค์ประชุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร คือ สส.ที่อยู่ในห้องประชุม ไม่ว่าฝ่ายใดจะมามากหรือมาน้อย

 

 

 

 

 

 

จนท้ายที่สุด นายปดิพัทธ์ ได้ยืนยันว่า ในขั้นตอนการลงมตินั้น องค์ประชุมที่ประชุมครบ แต่ในการลงมติเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบในการพิจารณานั้น จะต้องมีองค์ประชุมมากกว่ากึ่งหนึ่ง จะใช้เฉพาะเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียวไม่ได้ พร้อมสั่งปิดการประชุม ทำให้เหตุการณ์สภาล่มครั้งนี้ ถือเป็นการล่มครั้งแรก ประเดิมการเปิดสมัยประชุมสภาที่ 2 ประจำปี 2566

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ภายหลังการลงมติญัตติของนายณัฐพงษ์ ที่ขอให้ที่ประชุมส่งร่างข้อบังคับการประชุมฯ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ไปให้คณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภาผู้แทนราษฎรไปพิจารณาก่อนนั้น สส.พรรคก้าวไกล พบว่า สส.พรรคร่วมรัฐบาล อยู่เข้าร่วมประชุมไม่ถึงครึ่งหนึ่งขององค์ประชุมที่มี ทำให้ในการลงมติวาระแรกนั้น สส.พรรคก้าวไกล ไม่ได้มีการกดการลงคะแนน จึงทำให้องค์ประชุมดังกล่าว ไม่ครบ จนเป็นเหตุให้ปิดการประชุมในที่สุด

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube