fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

“พิธา-เศรษฐา” โหวตชิงนายกฯดันศก.

จับสัญญาณการเมืองเชื่อมเศรษฐกิจ หลัง “บิ๊กตู่” ประกาศวางมือทางการเมือง ในห่วงจังหวะก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพียง 2 วัน

 

 

 

ซึ่งการประกาศดังกล่าวทำให้ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะทำให้ ส.ว.บางส่วนทำFree Vote หรือไม่ รวมถึงจะทำให้ท่าทีของพรรครวมไทยสร้างชาติเปลี่ยนแปลงท่าที่ในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่อย่างไร

 

 

และสำหรับการโหวตนายกฯวันพรุ่งนี้ 13 กรกฎาคม 2566 ทางบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า มีโอกาสเกิดขึ้น 3 ข้อ ข้อแรกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ และรัฐบาลนำโดยก้าวไกลและเพื่อไทย มีโอกาส 40%

 

2) นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ และรัฐบาลนำโดยก้าวไกลและเพื่อไทย มีโอกาส 40% และ 3.) นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลอื่น หรือเกิดการจับขั้วรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย ขณะที่ก้าวไกลหลุดไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีโอกาส 20%

 

ดังนั้นฉากทัศน์ที่ตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกจากมากไปน้อยได้แก่ ข้อ 2, 1 และ 3 เนื่องจากในฉากทัศน์สุดท้าย คือ ข้อ 3 อาจก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้าน

 

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า ประเด็นที่ถือได้ว่าเป็นอุปสรรคต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยังมีอยู่ อีกหลายส่วน เช่น กรณีที่พรรคก้าวไกลชูนโยบายหาเสียง แก้/ยกเลิก ม.112 ของ ป.อาญา รวมถึงเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. จนถึงปัจจุบันยังมีกระแสที่สะท้อนออกมาว่า เสียงส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่สนับสนุน Candidate นายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล

 

ทั้งนี้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการทำข้อตกลง MOU ร่วมกันมีเพียง 312 เสียงซึ่งขาดอีก 64 เสียง ซึ่งต้องพึ่งพาเสียงจาก ส.ว. โดยล่าสุด ส.ว.บางท่านให้ความเห็นว่า ได้เช็คเสียงภายใน พบว่ากลุ่มที่จะสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี มีเพียง 5-10 เสียงขณะที่หากประธานสภามีการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ ในการโหวตรอบ 2-3 อาจมีส.ว.คัดค้าน โดยอ้างอิงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ได้

 

นอกจากนี้ คุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญของว่าที่นายกฯ ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ อาทิ คดีการถือหุ้นสื่อ ITV ของนายพิธา ซึ่งทาง กกต.เตรียมพิจารณาคำร้องว่าจะเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

 

 

ดังนั้น ภายใต้สมการทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูง และกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่สำคัญในวันที่ 13 ก.ค. หรือไม่ก็ภายในเดือน ก.ค. นี้ คาดทำให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผันผวนในกรอบแคบก่อน จนกว่าจะรู้ผลลัพธ์ และเชื่อว่า Fund Flow ต่างชาติยังคงไม่ไหลเข้ามาสะสมในเร็ววัน

 

 

ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความล่าช้าในการเลือกนายกรัฐมนตรี และ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีหลังทราบผลการเลือกตั้งมาเป็นเวลาร่วมสองเดือนแล้ว ย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาคการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาจึงควรร่วมมือกันในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่หากเดือนสิงหาคมยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ประเทศสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและเกิดความล่าช้าในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ

 

 

แต่หากจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปลายเดือนกรกฎาคม งบประมาณปี 2567 จะล่าช้า 2-3 เดือน ยังไม่กระทบเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากนัก แต่หากการจัดตั้งยืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายนหรือตุลาคม เราจะมีรัฐบาลรักษาการที่ไม่มีอำนาจเต็มบริหารประเทศนานถึง 6-7 เดือน โครงการลงทุนขนาดใหญ่มีผลผูกพันงบประมาณหลายปีจะไม่สามารถดำเนินการได้เลย โครงการหลายส่วนอาจต้องชะลอออกไปไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน คุณสมบัติและความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน

 

 

จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่างใกล้ชิด เพราะถ้าสมการทางการเมืองยังไม่ได้ข้อยุติ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยและประชาธิปไตยนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube