fbpx
Home
|
บันเทิงไทย

“หนุ่ม กรรชัย” ลงพื้นที่ เปิดแผนเยียวยา – ดูแลสุขภาพจิต ผู้สูญเสียจากเหตุกราดยิง

Featured Image
“หนุ่ม กรรชัย” ลงพื้นที่ เปิดแผนเยียวยา – ดูแลสุขภาพจิต ผู้สูญเสียจากเหตุกราดยิง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหนองบัวลำภู   

 

กรณีอดีตตร. ก่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู จนมีเด็กและครูเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สร้างความรู้สึกช็อก หดหู่ คาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญแบบนี้ในเมืองไทย

รายการโหนกระแสวันที่ 7 ต.ค. 65 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต, ปรียดา พ่อค้าช้าง ผู้อำนวยการภาคอาวุโส สำนักงานคปภ.ภาค 3 (ขอนแก่น) กำกับดูแลพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู , สุวิทย์ จันทร์หวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู จะมีการเยียวยาดูแลญาติผู้สูญเสีย และมาตรการป้องปรามจะเป็นอย่างไร

หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พี่น้องชาวหนองบัวลำภูเป็นยังไงบ้าง ?

สุวิทย์ ก็ช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องสะเทือนขวัญของหนองบัวลำภู ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน เข้าใจว่าทุกท่านที่รับชมข่าวเมื่อวานก็คงช็อกเหมือนกัน

การเยียวยาเบื้องต้น ต้องเยียวยาอย่างไร?

สุวิทย์ : การเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ หลังเกิดเหตุการณ์ ญาติพี่น้องมารวมตัวกันที่บริเวณเกิดเหตุ จังหวัดก็ให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราว และระดมนักสุขภาพจิตจากจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการก่อน บรรยากาศเศร้าโศกเสียใจมาก ถ้าใครมาเห็นก็สะเทือนใจมาก ต้องให้นักสุขภาพจิตมาบำบัดช่วยเหลือเรื่องนี้ก่อนเป็นอันดับแรกเรื่องการเยียวยาด้านจิตใจ เสร็จแล้วหลังผ่อนคลายแล้ว จังหวัดจะให้การช่วยเหลือเยียวยา ญาติผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ ด้วย ก็จะมีหน่วยงานหลักๆ  คือกระทรวงยุติธรรม สำนักงานยุติธรรมจังหวัดได้เข้ามาชี้แจงว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือญาติผู้สูญเสีย สามารถยื่นคำขอ ขอรับเงินค่าตอบแทนค่าเยียวยวช่วยเหลือตามพรบ. ช่วยเหลือผู้เสียหายทางคดีอาญา

ศพผู้เสียชีวิต เรื่องการฌาปนกิจ จะทำร่วมกันหรือมีการแยก?

สุวิทย์ : ทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระองค์ท่านรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทางจังหวัดเองก็มีการประชุมและพูดคุยกับญาติผู้เสียชีวิตว่าเราจะทำพิธีศพให้เหมาะสม โดยมีการจัดสถานที่ในพื้นที่ หลักๆ กำหนดไว้ 3 วัด ที่ญาติผู้เสียชีวิตสะดวกมากที่สุด มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ ค่าใช้ทั้งหมดจะอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ครับ

วัดที่อุทัยสวรรค์ค่อนข้างเล็ก และอาจมีเรื่องเตาไม่เพียงพอ จะเป็นปัญหามั้ย?

สุวิทย์ :  เมื่อช่วงเช้าได้ประชุมกับพระคุณเจ้า และเจ้าคณะจังหวัดด้วย และทางผู้นำท้องที่ กำนัล ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่เป็นปัญหาว่าวัดเล็กหรือวัดใหญ่ เพราะวัดที่เราเตรียมไว้ให้ เป็นข้อตกลงร่วมกัน ค่อนข้างใหญ่พอสมควร สามารถรองรับศพที่จะมาทำพิธีได้ครบหมด เราเตรียมไว้ 3 วัดในพื้นที่ ส่วนพิธีฌาปนกิจจะทำพิธีพร้อมกัน แต่ไม่ได้กำหนดวันครับ

 

ท่านผอ.กรมสุขภาพจิตบ้าง ตอนนี้ประเด็นเร่งการเยียวยา สำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิต ต้องเริ่มจากจุดไหน?

พญ.ดุษฎี สำคัญคือการปฐมพยาบาลทางใจ ตอนนี้สำหรับครอบครัวผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจะเกิดภาวะที่เรียกว่าเครียด วิตก กังวล และสะเทือนขวัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นบาดแผลทางใจ ถ้าหากไม่มีการปฐมพยาบาลหรือเยียวยา จะเกิดเป็นผลลัพธ์ที่เป็นปัญหาสุขภาพจิตระยะยาวได้ สิ่งที่ต้องเริ่มก่อนคือการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เราใช้คำว่าไข่แดง ไข่ขาว ไข่แดงคือกลุ่มที่อยู่ใกล้เหตุการณ์มากที่สุด กลุ่มนี้มีโอกาสที่บาดแผลจะลึกที่สุด และกลุ่มไข่ขาวคือกลุ่มรอบนอกรองลงมา ทั้งกลุ่มไข่แดงและไข่ขาวจะเร่งเข้าไปปฐมพยาบาลตามลำดับอย่างเร่งด่วน ในการปฐมพยาบาลทางใจเรามุ่งเน้นที่การสอดส่องมองหาใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง มองหาว่าเขามีปัญหาเรื่องความเครียด หรือสะเทือนขวัญ วิตกกังวลมากน้อยแค่ไหน พร้อมๆ ไปกับมองหาว่าเขามีจุดแข็ง จุดดีอะไร มีความหวังที่จะเดินหน้าต่อยังไง  ตรงนี้จะเป็นพลังให้เขาเดินต่อได้ หัวใจสำคัญมากอันที่สองคือใส่ใจรับฟัง อยากชวนผู้คนรอบข้าง ถ้าคนรอบข้างรู้ว่าฟังเขาจะช่วยเขา และการฟังนี้ไม่ใช่การฟังรายละเอียดเหตุการณ์ด้วยนะ การไปถามหารายละเอียดเหตุการณ์ ยิ่งทำให้บาดแผลนั้นแย่ลง

ผอ.กำลังจะบอกว่าถ้ามีสื่อไปสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตบ่อยๆ มันเป็นการวนลูปในความรู้สึกเขา เป็นการตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ฉะนั้นแผลนี้ไม่หลุดจากใจเขา?

พญ.ดุษฎี : มันจะยิ่งทำให้เขาตกอยู่ในวังวนภาพเหตุการณ์เดิม ฉะนั้นสิ่งที่หมอร้องขอทางสื่อมวลชนทุกท่าน คือลดการถามรายละเอียดเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถ้าหากท่านอยากถาม ถามได้แต่ควรถามความรู้สึกของเขา รับฟังว่าเขาเป็นทุกข์อย่างไร ถ้าเขาจะพูดรายละเอียดออกมาเองอันนั้นไม่เป็นไร ถือเป็นการระบาย แต่ถ้าไปจี้ถามว่าเหตุการณ์เป็นยังไง แม่กำลังทำอะไร รู้มั้ย ถามรายละเอียดเหตุการณ์ จะยิ่งผลิตซ้ำภาพเหตุการณ์นั้นในใจเขา จะยิ่งทำให้ภาพบาดแผลทางใจยิ่งยังคงอยู่ และก้าวต่อไปไม่ได้ หากกลุ่มมีอาการค่อนข้างเยอะเราก็จะส่งต่อ เชื่อมโยง ถ้าท่านรับฟังความทุกข์เขาแล้ว เขาไม่ดีขึ้น ก็เป็นการส่งต่อหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อเยียวยาจิตใจในระยะกลาง ระยะยาวต่อไป

 เมื่อสักครู่ได้มีโอกาสเดินไปด้านหลังอบต.จุดนั้นเป็นศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราว มีตร.มากันทั้งจังหวัด มาตั้งจุดอยู่ข้างหลัง มาสอบปากคำ รับแจ้งความร้องทุกข์ รวมถึงการบอกรายละเอียดต่างๆ นานา เป็นการอำนวยความสะดวก เพราะผู้สูญเสียอาจไม่มีเวลา หรืออาจเสียใจกับการเดินทางไปสภ. ก็เลยมาอำนวยความสะดวกในพื้นที่ตรงนี้เลย สองมีพระคุณเจ้าในจังหวัด มาแสดงธรรม ผมเชื่อว่าวันนี้ผู้สูญเสียทั้งหลายสิ่งที่จะพึ่งได้คือทางธรรม และกรมสุขภาพจิตที่ยื่นมือเข้ามา วันนี้มากันกี่คน?

พญ.ดุษฎี : 50-60 คนได้แล้ว เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้เสียหายหรือกลุ่มผู้สูญเสีย แต่เราพบว่าชุมชนที่อยู่รอบข้าง คนอยู่ในชุมชน แล้วได้รับข่าว ตกอยู่ในภาวะวิตกสะเทือนขวัญด้วย ฉะนั้นคนในชุมชนปริมาณจะเยอะกว่าผู้สูญเสียอยู่แล้ว ก็ต้องใช้ทีมงานพอสมควร เพื่อปฐมพยาบาลทางใจ และสอดส่องมองหาอย่างที่บอกค่ะ

 

มาวันนี้อยากมาให้กำลังใจ แต่พอเดินเข้าไปผมตกใจ มีคุณย่ามาจับมือแล้วร้องไห้ ถามว่าคุณย่าเป็นยังไงบ้าง ย่าบอกว่าย่าเสียหลานไป ผมสะท้อนใจมาก ย่าเลี้ยงมาตั้งแต่แบเบาะ พ่อแม่น้องไม่อยู่ แยกทางกัน เอาน้องมาไว้กับปู่ย่า ปู่ย่าทะนุถนอม แต่วันนี้น้องไม่อยู่แล้ว แล้วติดต่อพ่อแม่ไม่ได้ จากนั้นย่านั่งเหมือนเหม่อลอย ผมพูดอะไรย่าก็ไม่ได้ฟังแล้ว ผมก็เลยถามทางคุณหมอที่เดินผ่านมา หมอบอกว่าคุณย่าท่านนี้เหมือนมีอาการช็อกที่สูญเสีย คือคุณย่าบางท่านอาจร้องไห้ แต่ท่านนี้ช็อก แล้วไม่ยอมปรึกษาคุณหมอ หมอไปคุยด้วยก็ไม่คุย เขาก็งงว่าทำไมคุณย่าพูดกับผม?

พญ.ดุษฎี : คำถามสำคัญของคุณหนุ่มกรรชัยที่ใช้เปิด เป็นคำถามที่ดีมาก คุณย่าเป็นยังไงบ้าง คำถามกว้างๆ แบบนี้ดีมากนะคะ เพื่อให้คุณย่าเล่าแบบอิสระ ไม่ได้ไปถามว่าคุณย่าตอนนั้นเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้น แต่คุณกรรชัยถามว่าคุณย่าเป็นยังไงบ้าง คำถามแบบนี้ดีมากๆ ถ้าจะไปถามผู้เจ็บปวดจากการสูญเสีย ควรถามแบบนี้ เขาจะรู้สึกว่ามีใครสักคนพร้อมที่จะฟังเขา  

ถ้าเขาจะพูดก็พูดเอง?

พญ.ดุษฎี : ใช่ค่ะ แต่นั่นหมายถึงเขาไว้วางใจคุณกรรชัยด้วยนะคะ แล้วพอคุณกรรชัยถามเขาก็พร้อมเปิดเล่าให้ฟัง แบบนี้จะไม่สร้างบาดแผลเพิ่ม แต่ถ้าการจี้ถามเหตุการณ์จะเป็น หรือเขาเห็นภาพเหตุการณ์ซ้ำๆ บ่อยๆ อย่างเปิดเฟซบุ๊กเห็นภาพความรุนแรงก็ย้ำแผลเขาเช่นกัน กรมสุขภาพจิตวิงวอนคนไทยทุกคนช่วยกรุณางดส่งต่อภาพความรุนแรง เพราะมันกำลังผลิตซ้ำเหตุการณ์นี้ โดยไม่จำเป็น

ผู้สูญเสียบอกว่าไม่อยากให้มีการนำเสนอแบบซ้ำๆ ฟังแล้วใจหาย ต้องทบทวนตัวเองเหมือนกัน ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่โคราช ครั้งนั้นเราถอดบทเรียนแล้วว่าควรต้องอยู่กันแบบไหนทำชีวิตกันแบบไหน เราไม่ควรเอ่ยชื่อผู้ก่อเหตุ และไม่ควรเอ่ยหรือเอารูปเขามาเปิดเผย รวมถึงเรื่องราวชีวิตที่เขาคร่าไป มันจะมีพฤติกรรมเลียนแบบตามมาทันที มันเป็นแบบที่พูดหรือเปล่า?

พญ.ดุษฎี : การเปิดเผยหรือให้ความสนใจของสังคม กับเรื่องอะไร สำหรับคนบางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางแบบนี้ เขาจะมองว่านี่คือรางวัล การได้รับความสนใจจากสังคมเป็นรางวัลของเขา ทีนี้ถ้าเป็นรางวัล ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำแบบนี้ซ้ำได้ เขาอยากได้รางวัล ก็คือความสนใจของสังคม สิ่งที่เราควรคือให้รางวัลสังคมกับคนที่ทำความดี เป็นต้นแบบน่ายกย่องมากกว่าการให้รางวัลกับคนเป็นต้นเหตุของความรุนแรง ถ้าเราให้รางวัลกับต้นเหตุความรุนแรง เราก็กำลังจะเสริมแรงให้เกิดความรุนแรงขึ้นไปอีก ฉะนั้นการงดพูดถึงชื่อของเขา ไม่ต้องเข้าไปดูรายละเอียด ประวัติใดๆ จะเป็นตัวที่ช่วยลดความสนใจตรงนี้ลง เรื่องประวัติ สาเหตุการจูงใจ มีตร.ทำหน้าที่นั้นอยู่แล้ว แพทย์นิติเวชทำหน้าที่อยู่แล้ว แล้วเรามีการชันสูตร ทางจิตวิทยาอยู่แล้ว ที่จะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าเพราะอะไร ฉะนั้นตรงนี้ถ้าเราไม่ต้องเข้าไปแตะ เพียงแต่รู้ก็พอว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น และก้าวไปสู่บทเรียนที่ว่าเราจะป้องกันไม่ให้เกิด และก้าวผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ร่วมกันอย่างไร อันนี้จะเป็นประโยชน์กว่าค่ะ

ผลเสียที่จะตามมา ตามที่ได้คุยกับหลายๆ ท่าน เขาบอกว่ามีพฤติกรรมเลียนแบบ มันมีโอกาสเกิดขึ้นจริงๆ ใช่มั้ย?

พญ.ดุษฎี เราพบจริงๆ ค่ะ ไม่ว่าจะความรุนแรงต่อตนเอง ความรุนแรงต่อทรัพย์สิน  หรือความรุนแรงต่อผู้อื่น รวมถึงผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ การเผยแพร่ภาพ ข้อมูล รายละเอียดของการกระทำความรุนแรง ชื่อผู้ก่อเหตุ จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดความเสี่ยง กับพฤติกรรมเลียนแบบ  

วันนี้กำหนดการจะเป็นยังไงต่อไปบ้าง?

สุวิทย์ : หลังจากนี้จะมีท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯ และคณะเดินทางเข้ามายังพื้นที่ เพื่อเยี่ยม ให้กำลังใจญาติผู้สูญเสียในศูนย์ช่วยเหลือ รวมทั้งมอบความช่วยเหลือตามระเบียบ มอบเงินให้กับญาติผู้สูญเสียด้วย ตามระเบียบราชการครับ

ในมุมคปภ. ดูแลยังไงบ้างในครั้งนี้?

ปรียดา : สำนักงานคปภ. มีการสั่งการโดยเร่งด่วน ให้สำนักงานคปภ.ภาค 3 ขอนแก่น และคปภ.จังหวัดอุดรธานี ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ลงพื้นที่โดยด่วนตรวจสอบเรื่องข้อมูลการประกันภัย และประสานบริษัทผู้รับประกันภัย รวมถึงตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านหลังข้อมูลด้านการประกันภัยให้กับทายาท ซึ่งการตรวจสอบข้อมูล พบว่ามีสัญญาประกันภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง 3 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ทำไว้ เป็นประกันภัยกลุ่มอุบัติเหตุสำหรับสถานศึกษา อันนี้จะให้ความคุ้มครองกรณีมีผู้เสียชีวิตในสถานศึกษา วงเงิน 5 หมื่นบาทต่อหนึ่งราย ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 5 พันบาทต่อ 1 ราย ต่อ 1 ครั้ง นอกจากนั้นจะมีเรื่องวงเงินความรับผิดของผู้เอาประกันภัยของสถานศึกษา เช่นกรณีมีผู้เสียชีวิต เป็นความรับผิดของสถานศึกษา อันนี้บริษัทจ่าย แต่ปรากฏว่าเคสนี้ไม่ใช่ความผิดของสถานศึกษา เป็นความผิดของบุคคลภายนอก แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้รับประกันภัย เขาได้นำวงเงินที่ไม่ได้จ่าย 5 แสนบาทมาเฉลี่ยจ่ายให้กับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ตอนนี้เรากำลังตรวจสอบข้อมูลให้ยุติว่าผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต รวมกันได้เท่าไหร่ เบื้องต้น 24 รายที่เกิดในที่นี้ สามารถหารเฉลี่ยได้เท่ากันทุกราย ในวงเงิน 5 แสนบาท

เฉพาะผู้อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก แต่ถ้าเสียชีวิตอยู่ด้านนอก อันนั้นคือต่างหาก แล้วคปภ.จะดูแลตรงไหนบ้างมั้ย?

ปรียดา :   อันที่สองเราจะตรวจสอบเพิ่มเติมสำหรับประชาชนที่อยู่ด้านนอก ว่าเขามีประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมั้ย ปรากฏว่าบางรายที่เสียชีวิต มีการทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้กับบริษัททิพยประกันภัย ซึ่งจะมีวงเงินตามเงื่อนไข 5 หมื่นหรือแสนที่เขาซื้อไว้ ตรงนี้เราก็ประสานบริษัทเรียบร้อยแล้ว

ถ้าท่านไหนไม่ได้ทำประกันไว้ จะมีกระทรวงยุติธรรม ยุติธรรมจังหวัดเข้ามาช่วยซัปพอร์ตดูแลตรงนี้?

สุวิทย์ ทางสำนักงานยุติธรรมจังหวัดได้เข้ามาชี้แจงญาติผู้เสียชีวิตเมื่อวานนี้ถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับตามกฎหมาย วันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ พิจารณาให้เงินญาติผู้สูญเสีย ก็พิจารณากันเรียบร้อย รวมทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บด้วย โดยเฉลี่ยแล้ว ญาติผู้สูญเสียทั่วไปจะได้รับรายละ 1.1 แสนบาท ทุกรายครับ

เฉพาะผู้เสียชีวิตในศูนย์เด็กเล็กจะได้อีกรายละ 5 หมื่น?

ปรียดา :   ค่ะ คือส่วนกรมธรรม์ฉบับนี้ ผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้ทำประกันทั้งหมดกับสถานศึกษา เบื้องต้นมีสิทธิ์ 7 ราย ที่ทำประกันกับสถานศึกษา และจะได้รับความคุ้มครองรายละ 5 หมื่น ทีนี้อีกส่วนนึง รถผู้ก่อเหตุเขาหนีการจับกุมอะไรก็ตามแล้วไปเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน มีผู้เสียชีวิตด้วยเช่นกัน รถผู้ก่อเหตุไม่มีประกัน พรบ.ขาดอายุไปเมื่อเดือนที่แล้ว 8 ก.ย. จะมีกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานคปภ. ที่จะเข้าไปเยียวยาตรงนี้ต่อ โดยผู้เสียชีวิตจะได้รายละ 3.5 หมื่นบาท สำหรับผู้บาดเจ็บเบิกค่ารักษาได้เท่ากับที่จ่ายจริงไม่เกิน 3 หมื่นบาท เป็นสิ่งที่กองทุนเข้าไปเยียวยาช่วยเหลือ ในกรณีรถไม่มีพรบ. หลังจากนี้เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตค่อนข้างเยอะ ผู้บาดเจ็บก็หลายราย หลังจากนี้สำนักงานคปภ. ก็จะตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้สัญญาประกันภัยที่มีเข้ามาชดใช้อย่างเร็วที่สุด และเป็นการเยียวยาให้ทันท่วงที ส่วที่เจอแล้วสามารถจ่ายได้วันนี้กับพรุ่งนี้นัดจ่ายอีกครั้งนึง ก็จะช่วยบรรเทาได้อย่างรวดเร็วค่ะ

เรื่องสื่อโซเชียลมีการแชร์ภาพอันไม่ควร ภาพผู้เสียชีวิต ภาพเหตุการณ์ต่างๆ อันนี้ไม่ควรใช่มั้ย?

พญ.ดุษฎี ไม่แนะนำอย่างยิ่ง ขอร้องว่าให้งดหรือหลีกเลี่ยงการส่งต่อภาพความรุนแรงทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นภาพผู้สูญเสียหรือผู้ก่อเหตุ เราได้รับเสียงสะท้อนเหมือนกันกับครอบครัวผู้ที่เราเข้าไปเยียวยาว่าเวลาเขาเห็นภาพข่าวภาพเหตุการณ์ เขาไม่อยากรับรู้เรื่องพวกนี้เลย ไม่ว่าท่านจะอยู่ไกลแค่ไหน ท่านมีส่วนช่วยง่ายๆ โดยไม่ส่งต่อ

“พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง” โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันดับแรก วุฒิภาวะตร.ในการพกปืน ถึงแม้วันนี้ออกจากราชการหรือนอกราชการไปแล้ว แต่มีการนำอาวุธปืนมาใช้ก่อเหตุอีก องค์กรมีมุมมองยังไง และจะป้องปรามยังไง?

พล.ต.ต. อาชยน : หลังจากที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็เกิดคำถามขึ้นมากมายในเรื่องการครอบครองอาวุธของเจ้าหน้าที่ ทางท่านผู้บัญชาการตร.แห่งชาติ ท่านได้คิดว่าน่าจะต้องมีมาตรการเรื่องการครอบครองอาวุธปืนของเจ้าพนักงาน ถ้าเกิดว่ามีคำสั่งให้ออก ไล่ออก หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็อาจต้องมีการเจรจาเรื่องการทำสัญญา กรณีตร.ได้ไปซื้อปืนจากโครงการและถูกไล่ออก อาจต้องมีการทำสัญญาให้ภาครัฐซื้อปืนคืน กรณีเขาใช้เงินส่วนตัว กรณีของการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าดูแล้วเรื่องของความประพฤติ หรือมีจิตใจไม่เหมาะสมเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชน ก็อาจมีเรื่องการควบคุมทางระเบียบวินัยอาจต้องมีการยึดปืนหรือให้สับเปลี่ยนหน้าที่ ตรงจุดนี้ตร.มีการทำมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าครั้งนี้ต้องมีการกระตุ้น กำชับ และสร้างมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนมากกว่านี้

มีตร.บางนายมักพกปืนไป ถึงแม้ตัวเองไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ก็ยังพกปืน บางทีไปข่มขู่ต่างๆ นานา ตรงนี้จะทำยังไง?

พล.ต.ต. อาชยน : เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ต่อไปนี้ต้องมีการสุ่มหรือตรวจ ควบคุมความประพฤติผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติงานดูแลประชาชนหรือป้องกันปราบปราม หรือแม้แต่ฝ่ายอำนวยการก็ดี ถ้าพบเห็นว่าไปพกพาอาวุธในสิ่งที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ตัวเอง ก็จำต้องมีการตักเตือนหรือใช้การดำเนินการทางวินัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

บางทีผู้บังคับบัญชาก็ชอบเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ตรงนี้จะทำยังไง มีมาตรการเด็ดขาด ผู้บังคับบัญชาโดนด้วย มีมั้ย?

พล.ต.ต. อาชยน : มีครับ มาตรการให้ผู้บังคับบัญชาร่วมรับผิดชอบ ในกรณีที่ยังรับราชการอยู่ ถ้ามีผู้ใต้บังคับบัญชาไปกระทำผิด โดยที่ผู้บังคับบัญชาไม่รู้ไม่เห็น ผู้บังคับบัญชาต่อไปสองชั้นมีสิทธิโดนพิจารณาทางวินัย ฉะนั้นเราจะมีมาตรการควบคุมความประพฤติทุกลำดับชั้น สุดท้ายท่านผู้บัญชาการตร.แห่งชาติ ยังมีท่านจเรตำรวจแห่งชาติคอยดูด้วย จุดนี้มีตั้งแต่ลูกแถวจนถึงชั้นบนสุด

กรณีตร.นอกราชการคนนี้ไปมีส่วนพัวพันกับยาเสพติด แล้วมีข่าวว่าไม่ได้มีคนเดียวด้วย ตอนนี้ตร.เอง จับเอง เสพเอง มีเพียบเลย ทำยังไงดี?

พล.ต.ต. อาชยน : ก่อนอื่นต้องขอความร่วมมือจากพ่อแม่พี่น้องที่มีข้อมูลเรื่องราชการกระทำผิด โดยเฉพาะตร.ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้ช่วยแจ้งเบาะแสมาที่ทางเรา ท่านผบ.ตร. ยุคนี้พร้อมรับฟังเรื่องร้องเรียนและสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาภาคต่างๆ ผู้การจังหวัดต่าง รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนให้มากที่สุด ต้องเข้าไปเชิงรุก ถ้าเกิดมีข่าวว่าข้าราชการตร.คนไหนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทั้งวินัยและอาญา  แล้วถ้าเกิดแจ้งไปแล้วยังไม่เกิดการดำเนินการอีก ให้แจ้งมาได้ที่ท่านผบ.ตร. ท่านพร้อมรับฟัง ไม่ว่าใครก็ตามที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้เข้าไปพบผู้บังคับบัญชาระดับสูงๆ หมายเลขโทรศัพท์ 1599 เป็นหมายเลขแรกที่ท่านพร้อมที่จะดูเลยว่าการรับแจ้งแต่ละวัน มีการรับแจ้งประเภทใดบ้าง

โทรติดมั้ยครับ?

พล.ต.ต. อาชยน : โทรติดและรับ และทำด้วยครับ

กรณีคนที่ไปก่อเหตุอันนี้ ประวัติเขาเองเสพยามาตั้งแต่มัธยม เราจะมีการคัดเลือกยังไง ตร.มาเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ประชาชนต้องไปฝากชีวิตไว้กับเขา แล้วเขามาเสพยาและก่อเหตุแบบนี้ มีมาตรการยังไงคัดเลือกตร.มาสู่องค์กรของเรา ไม่งั้นก็เข้ามาแบบนี้ และก่อเหตุแบบนี้?

พล.ต.ต. อาชยน : ขอเรียน 2 ประเด็น ประเด็นแรกเราได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหลายทิศหลายทางว่าสตอรี่คนก่อเหตุเป็นยังไงบ้าง ตรงนี้ต้องมีการยืนยันให้กระจ่าง สองมาตรการก่อนเข้าเป็นตร. และมาตรการขณะเป็นตร. ต้องมีการเพิ่มความเข้ม ก่อนเข้าตร.เรามีการตรวจสุขภาพ หาสารเสพติดตั้งแต่ปี 2550 แล้วคนนี้เขาไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่มีสารเสพติด แต่ขณะปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานเป็นตร.แล้วถ้าพบว่ามีลักษณะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ต้องเพิ่มความเข้มให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการ ไม่ว่าทางปกครอง ย้าย หรือว่าถ้ามีการสุ่มตรวจสารเสพติดในร่างกายด้วย ถ้ามีข้อสงสัยนะครับ

วันนี้มีแผนงานต้องทำอะไรบ้าง?

พล.ต.ต. อาชยน : วันนี้ผบ.ตร.ท่านก็มาตรวจเยี่ยม กำชับ เร่งรัดเรื่องการสืบสวนสอบสวน เรื่องมูลเหตุจูงใจ เรื่องการเยียวยาแสดงความรู้สึกกับญาติผู้สูญเสีย มีคร่าวๆ แค่นี้ครับ

อยากฝากบอกอะไรคนไทย?

พญ.ดุษฎี สิ่งที่อยากชวนก็คือขณะช่วงเวลานี้ เป็นช่วงมีข่าวสะเทือนขวัญออกมาค่อนข้างเยอะ หลายท่านรับฟังข่าวนี้ไป อาจเกิดความเครียด วิตกกังวล หรือหวาดกลัวกับเหตุการณ์ไปด้วยได้ แนะนำคือถ้าเกิดอาการเครียดหรือกังวล ควรลดความถี่ในการรับรู้ข่าวพวกนี้ลง แล้วเลือกเสพจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ จากหน่วยงานของรัฐที่เชื่อถือได้ การเสพนั้นเป็นไปเพื่อเรียนรู้ว่าจากเหตุการณ์นี้ ประเทศเราจะเติบโตและก้าวข้ามเรื่องความรุนแรงไปด้วยกันได้ยังไง ถ้าเราคิดว่ายาเสพติดเป็นปัญหา เราจะช่วยกันป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดได้ยังไง เราจะช่วยกันป้องกันยับยั้งความรุนแรงด้วยกันได้ยังไง เราจะใส่ใจคนที่อยู่รอบข้าง ที่อาจมีปัญหาความเครียดบางอย่างและนำเขาเข้าสู่กระบวนการการช่วยเหลือโดยไม่ต้องรอเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ว่าจะมิติไหนๆ จะเกิดขึ้น อยากชวนเราก้าวผ่านเรื่องนี้ เป็นพลังร่วมกันมากกว่า

ขออภัยคำถามนี้ ล่าสุดมีเรื่องไม่สบายใจกับคนไทยกรณีตร.บางท่านให้สัมภาษณ์ แล้วหัวเราะตอนที่มีการถามเรื่องจำนวนศพ หัวเราะในเหตุการณ์แบบนี้ ตรงนี้วุฒิภาวะแบบนี้ จะอบรมบ่มเพาะหรือพูดคุยกันในองค์กร ปรับเปลี่ยนยังไงบ้าง ตรงนี้เราปล่อยผ่านไม่ได้เราจะทำยังไง?

พล.ต.ต. อาชยน : ตรงนี้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นได้รับทราบแล้ว จากการนำเสนอของสื่อ ก็รับว่าจะนำไปปรับปรุง พูดในนามผู้บังคับบัญชาที่ได้พูดถึงกันในส่วนนี้ ว่าต่อไปจะไม่มีให้เกิดขึ้นอีก เราก็ต้องมีการเตรียมตัวและต้องเข้าใจเรื่องสถานการณ์การให้ข่าว ให้เข้าใจถ่องแท้ ก็ต้องขอโทษตรงจุดนี้ด้วย ที่อาจมีเรื่องคำพูดหรือกิริยาที่ไม่เหมาะสมออกไป ถ้ามีอะไรที่คิดว่าไม่เหมาะสม ผมขอโทษไว้ด้วย

 เราคนไทยต้องช่วยผู้สูญเสียด้วย หนึ่งละเว้นการแชร์ภาพที่ไม่สมควร ภาพผู้เสียชีวิต หรือภาพเหตุการณ์ต่างๆ สองผู้ก่อเหตุ ฝากถึงสื่อทุกท่าน ผมอาจเป็นน้องใหม่ในวงการสื่อ ขอในฐานะประชาชนแล้วกัน อย่านำเรื่องราวของชื่อผู้ก่อเหตุ ภาพของเขา เพราะนั่นคือรางวัลของเขา ถึงแม้เขาจะตายไปแล้วก็ตาม สิ่งที่เขาทำไว้ รางวัลอันนี้เขาจะสืบทอด คายตะขาบให้กับคนต่อไป  เราไม่อยากให้มีแบบนี้เกิดขึ้นอีก เราเองต้องข่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้า 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCmL7sBjm02WNURAOxGzq25w

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube