fbpx
Home
|
การเงิน

It’s All About Money EP1 : มนุษย์กับที่มาของเงิน

Featured Image

          สี่พันล้านปีที่โลกยังมีชีวิตอยู่ หนึ่งแสนปีที่สร้างประวัติศาสตร์ หนึ่งหมื่นปีที่วัฒนธรรมได้พรั่งพรูออกมา มนุษย์คงเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของพระเจ้าสักองค์ เพราะเราก่อร่างสร้างตนด้วยเวลาไม่ถึงครึ่งที่โลกสร้างตัวเองแต่เราสามารถยึดครองดาวเคราะห์สีน้ำเงิน และเชื่อมระบบความคิดชาวสองขาหนึ่งสมองให้มีความเชื่อเหมือนกันได้สำเร็จเพียงใช้แค่กระดาษบางๆ ใครที่กำลังฟัง Price Tag ของ Jessie J อาจต้องหรี่เสียงลง เพราะบทความนี้พูดถึง money ล้วนๆ กับ ที่มาของเงิน เราเริ่มใช้เงินกันตั้งแต่เมื่อไหร่?

 

หมูไปไก่มาแบบระบบ Barter

          ภัยอันตรายจากสภาพแวดล้อม ทำให้การร่วมกลุ่มกันจึงเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยทำให้รู้สึกปลอดภัย การเริ่มต้นยุคสมัยแบบเกษตรกรรมที่เน้นการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ก็ช่างแตกต่างจากปัจจุบันนัก เพราะแอปเปิ้ลที่ขายอาจได้ผลตอบแทนที่ไม่เหมือนกัน แอปเปิ้ล 1 กระสอบของตาสีในวันนี้อาจได้เนื้อไก่มาทำอาหาร แต่ในวันถัดมาของตาสีอาจได้ข้าวสาลีมาแทน 

          การยื่นหมูยื่นแมวนี้เริ่มซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเกิดสังคมแบบจักวรรดิที่มีการแออัดในชุมชนมากกว่า และเช่นเดียวกัน ช่องทางการทำมาหากินก็เยอะขึ้นด้วยเหมือนกัน ลูกของตาสีอาจจะกลายเป็นช่างทำรองเท้าเพราะเห็นว่าคนเดินเท้าเปล่าเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ได้ ซึ่งนั้นถือว่าคุ้มทีเดียวสำหรับอาชีพใหม่ แต่ลูกตาสีไม่เคยคิดเลยว่า อาชีพที่เพิ่มขึ้นทำให้ลูกหลานของตาสีต้องปวดหัวเข้าสักวัน

          เมื่อเมืองรุ่งเรืองด้วยอาชีพที่หลากหลาย การค้าก็เจริญขึ้นตามมา และรวมถึงความยากในการแลกเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน ลูกตาสีที่หันมาทำอาชีพช่างทำรองเท้า เกิดวันนึงอยากกินโจ๊กสักมื้อเขาก็ต้องคิดแล้วว่าต้องใช้รองเท้ากี่หนังกี่คู่แลกกับข้าวสัก 2 – 3 กระสอบ แล้วรองเท้าหนังที่ใช้เดินไร่ของชาวนาเป็นรูจนอยากได้ใหม่หรือยัง ถ้าชาวนาอยากได้เคียวสำหรับเกี่ยวข้าวเพิ่มอีกสันอัน ลูกตาสีต้องเอารองเท้าไปแลกกับช่างตีเหล็กก่อนหรือเปล่าถึงจะเอาเคียวมาแลกเพื่อทำข้าวเย็นสักถ้วยนึง ยิ่งไปกว่านั้นทั้งลูกตาสี สะใภ้ตาสี หลานตาสี ชาวนา ช่างตีเหล็ก ก็ต้องมานั่งนึกราคาแลกเปลี่ยนกับของทุกชนิดบนตลาดที่แตกต่างกัน

 

เปลือกหอยกู้ชีวิต

          ระบบเงินจึงถูกสร้างขึ้นในฐานะฮีโร่ให้ผู้คนรวมถึงลูกหลานตาสีไม่ต้องปวดหัวกับการท่องจำระบบสัมพัทธ์อีกต่อไป แม้ในตอนแรกจะยังไม่ได้เป็นเหรียญทองคำแบบในหนังล่าสมบัติที่เราเห็นในอินเดียน่าโจนส์ แต่ก็มีประโยชน์มากเลยทีดียว แต่ละพื้นที่ก็มีการคิดค้นหน่วยแลกเปลี่ยนในสไตล์ของตัวเองทั้งหนังสัตว์ เกลือ ลูกปัด เมล็ดพืช แต่ที่เห็นเยอะสุดก็คงเป็นเปลือกหอยที่พบหลักฐานในแอฟริกา เอเชีย ไปจนถึงหมู่เกาะโอเชียเนีย

          การนำเปลือกหอยหรืออะไรก็ได้มาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน ทำให้ชาวบ้านไปจนถึงขุนนางในวังเปรียบราคาสิ่งของได้อย่างง่ายดายและยังช่วยลดความลำบากของพ่อค้าเวลาคิดราคาอีกด้วย ตระกูลทำรองเท้าของลูกหลานตาสีไม่ต้องมานั่งปวดหัวลังเลว่าจะเอารองเท้าแลกกับข้าวกี่กระสอบอีกต่อไป เพราะเมื่อมีเปลือกหอยขึ้นมา ลูกหลานตาสีเพียงแค่บวกลบนิดหน่อยว่าจะเอากำไรจากเปลือกหอยกี่ชิ้นเท่านั้นเอง

          ไม่เพียงเท่านั้นการคิดระบบเงินตรายังช่วยทำให้สิ่งของที่มีค่ากลับมีค่ามากยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย ในช่วงยุคกลางโสเภณีสามารถเปลี่ยนราคะเป็นผลบุญได้ง่ายๆเพียงนำเงินที่ได้จากการขายบริการไปซื้อใบไถ่บาปจากศาสนจักร เรือนจำนักโทษใช้กล่องบุหรี่เปลี่ยนกล้ามเนื้อเป็นความภักดีเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยในแดนคนโฉด หรือแม้แต่กระดาษสีเทาบางๆเพียงไม่กี่แผ่นก็ทำให้คุณผู้อ่านได้ความรู้จากน้ำพักน้ำแรงของนักเขียนสักคนด้วยเช่นกัน

          เพียงแค่เปลี่ยนจากหยิบหมูมาแลกแอปเปิ้ล เป็นหยิบหมูมาแลกเปลือกหอย(ลูกปัด, บุหรี่, ทองคำ ฯลฯ) ก็สามารถหล่อหลอมความคิดของคนในหมู่บ้านนึงให้มีระบบความเชื่อที่เหมือนกันได้ ซึ่งระบบเงินตรานี้จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกทั้งใบจูนกันเข้าถึงและนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนกันมากกว่าเดิม ในตอนหน้าเราจะมาไขคดีเกี่ยวกับที่มาของทองคำกัน ว่าทำไมถึงกลายมาเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในสายตามนุษย์กว่า 7 พันล้านคนได้ยังไง ติดตามเรื่องการเงินและการลงทุนได้ที่ iNN Finance

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอบคุณข้อมูลจาก :

Yuval Noah Harari. (2018). Sapiens : A Brief History of Humankind.

Translate. Bangkok : Yipsi Press. (Thai).

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube