fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

จับผจก.รพ.ดังนำยาฟาวิฯของอภ.ขายออนไลน์

จับผู้จัดการโรงพยาบาลดังนำยาฟาวิพิราเวียร์ ของอภ.นำไปขายออนไลน์ ตรวจยึดยาฟาเวียร์ได้จำนวน 390 กล่อง

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ ภก.กิตติ ระหงษ์ ผู้อำนวยการกองการขายภาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขาย องค์การเภสัชกรรม ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายผู้ต้องหา 9 ราย ลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมยึดยาฟาเวียร์ของกลาง จำนวน 390 กล่อง โดยตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายใน กทม.สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ทั้งหมด 8 จุด

พล.ต.ท.จิรภพ เผยว่า สืบเนื่องจากตำรวจ บก.ปคบ. ตรวจสอบพบการลักลอบจำหน่ายยาดังกล่าว ทางสื่อออนไลน์ จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. สืบสวนเส้นทางการลักลอบจำหน่าย พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง ต่อมา วันที่ 26 ต.ค. เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่อยู่ในกระบวนการลักลอบจำหน่ายยาฟาเวียร์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 9 ราย ตรวจยึดยาฟาเวียร์ได้จำนวน 390 กล่อง

“บัญชีของเขา คือเชื่อว่าเขามีพิรุธ นะครับ เราก็ต้อง ถึงแม้เขาจะไปสวมให้กับคนไข้หรืออะไรต่างๆ แต่เราก็ต้องดูคนไข้อยู่กี่วัน กินยาวันหนึ่งกี่เม็ด ทำไมมัน คนไข้คนนี้มันกินเกิน มันก็จะเป็นข้อพิรุธ ที่เราจะประกอบการสอบสวน นะครับ”

ด้าน พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. เผยอีกว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การว่ายาดังกล่าวมาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สั่งซื้อในนามโรงพยาบาลจากองค์การเภสัชกรรม โดยมีผู้จัดการทั่วไปของโรงพยาบาลทำหน้าที่ตัดสต๊อกยานำออกมาปล่อยขายให้พ่อค้ารายย่อยเพื่อหากำไร โดยมีราคาต้นทุนอยู่ที่ กล่องละ 1,600 บาท แต่เมื่อนำมาจำหน่ายทางสื่อออนไลน์สามารถจำหน่ายได้ในราคาถึงกล่องละ 4,000-8,000 บาท และทำเป็นขบวนการ ซี่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด พร้อมสืบสวนขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ จึงไม่สามารถจำหน่ายให้กับประชาชนตามช่องทางทั่วไปได้ ส่วนยาของกลางที่จับกุมได้นั้นจะต้องตรวจสอบบัญชีว่ามีการสวมสิทธิ์ชื่อคนป่วยหรือวิธีการอื่นใดเพื่อนำมาออกจำหน่ายทางออนไลน์ได้ และต้องขยายผลสอบสวนเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้เคยนำออกมาแล้วจำนวนมากน้อยเพียงใดต่อไป

” ห้ามซื้อผ่านทางออนไลน์โดยเด็ดขาด และขณะนี้สถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนมียาตัวนี้อยู่ ท่านไม่จำเป็นจะต้องเสียเงินจำนวนมากไปซื้อทางออนไลน์มาเก็บไว้ อันนี้เป็นอันตรายนะคะ ส่วนในแง่ของสถานพยาบาลด้วยความที่ยาตัวนี้เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีการทำรายงานนะคะ ทุกขั้นตอนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ท่านนะคะต้องมีหน้าที่ในการควบคุม ไม่ให้ยานี้หลุดรั่วไหลนอกระบบ มิฉะนั้นแล้วสถานพยาบาลนั้นก็จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ยา เช่นเดียวกัน”

เบื้องต้น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube